พาณิชย์ ผุดไอเดีย ปี 64 ใช้ AI จับผิดบริษัทหัวหมอแต่งบัญชี ร่นเวลาจดทะเบียน ยันแม่นยำ 100 % เอาผิดได้ง่าย ยกระดับขีดความสามารถด้านบัญชีของผู้ประกอบการ

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภารกิจเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปี 2564 โดยจะเดินหน้าพัฒนางานบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจโดยกรมอยู่ระหว่างศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กรมสามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้ เช่น การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการจองชื่อนิติบุคคลจากที่ใช้เวลานาน 2 วันเหลือ 2 นาที คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนม.ค. 2564

การพัฒนาระบบการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (e-Foreign Certificate) อำนวยความสะดวกนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่เดิมใช้เวลา 30 วัน เป็นสามารถออกให้ได้เลย, การผลักดันการใช้ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ และน่าลงทุนให้มากยิ่งขึ้น

โดยจะลดค่าธรรมการจดทะเบียนผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ลงอีกจากเดิมลด 30% เป็น 50% ของค่าธรรมเนียม 5,200 บาท ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนหันมาจดผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นจากเดิมที่จดเพียง 5% จากผู้ที่มาขอจดทะเบียนทั้งหมด ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนต่างที่กรมจัดเก็บได้ปีละประมาณ 1 พันล้านบาท

รวมทั้งจะให้อำนาจผู้แทนบริษัทเช่น ทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัท สามารถยื่นจัดตั้งบริษัทใหม่ทางอิเล็กทรอนิกส์แทนกรรมการบริษัทได้เพื่อความสะดวกในการจัดตั้งบริษัท ซึ่งก็คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนม.ค. 2564 เช่นกัน ซึ่งการที่กรมอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการนั้นจะช่วยให้ประเทศไทยถูกจัดลำดับที่ดีขึ้นในการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) โดยธนาคารโลก ซึ่งในปีนี้อันดับ 1 คือสิงคโปร์ อันดับ 2 บรูไน อันดับ 3 ไทย อันดับ 4 เมียนมา อันดับ 5 เวียดนาม อันดับ 6 มาเลเซีย

นอกจากนี้ จะใช้ระบบบัญชีมาตรฐานเข้ามาช่วยในการสร้างธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจ โดยให้สามารถจัดทำบัญชีผ่านทางแอพพลิเคชั่น หรือทางออนไลน์ และสามารถนำส่งงบการเงินประจำปีได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบงบการเงินของบริษัทต่างๆ ทำให้ 100% ถูกต้อง แม่นยำเนื่องจากปีที่ผ่านๆ มามีบริษัทยื่นส่งงบการเงินประจำปีมาประมาณ 5 แสนราย แต่กรมสามารถสุ่มตรวจได้เพียง 3 หมื่นรายเท่านั้น

หากนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้หากระบบพบความผิดปกติของบัญชีก็จะแสดงผลออกมาทันที ซึ่งวิธีการใช้จะทำให้ตรวจสอบการตกแต่งบัญชี การแจ้งบัญชีเท็จ ถูกตรวจจับได้ง่ายและสามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ง่ายขึ้น ช่วยคัดกรองบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนนำข้อมูลทางบัญชีที่ได้ช่วยในการตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมหรือพัฒนาธุรกิจของตนเอง รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถด้านบัญชีของผู้ประกอบการ เช่น การพัฒนาสำนักงานบัญชีสู่เกณฑ์คุณภาพ การส่งเสริมสำนักงานบัญชีคุณภาพสู่สำนักงานบัญชีดิจิทัล และสร้างนักบัญชีคุณภาพรุ่นใหม่ (Young & Smart Accountant) ร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

รวมทั้งดูแลธุรกิจขนาดกลางและเล็ก(เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะผู้ประกอบการสินค้าชุมชน โอทอป และสินค้าเกษตร เน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้และส่งเสริมให้เข้าสู่ช่องทางการตลาดที่ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการ และเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง เพิ่มช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ในรูปแบบ Omni Channel หรือการขายแบบ 2 ทาง ผ่านการจำหน่ายบนห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้า สนามบิน สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้าส่ง-ค้าปลีกชุมชนทั่วประเทศ

รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ผ่านเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจด้วยธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ และธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ และจะเชื่อมโยงธุรกิจ Startup กับ เอสเอ็มอี ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม เทคโนโลยี ยกระดับและปิดจุดอ่อนการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็ง

นอกจากนี้ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทย ด้วยการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการร้านค้าส่งค้าปลีกตามเกณฑ์มาตรฐาน และพัฒนาสู่การเป็นสมาร์ทโชวห่วย ให้ร้านโชว์ห่วย รวมถึง การส่งเสริมให้ธุรกิจนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยยกระดับธุรกิจตามเกณฑ์มาตรฐานที่กรมฯ ได้จัดทำขึ้น (อิงเกณฑ์มาตรฐานสากล) เพื่อเป็นธุรกิจต้นแบบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน