นักวิชาการแนะเอกชนรับมือผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ระบุทิศทางการค้าเปลี่ยน จับตาสินค้าดาวรุ่ง-ร่วง

รับมือผลเลือกตั้งปธน.สหรัฐ – นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลกระทบต่อประเทศไทย : ทรัมป์ หรือ ไบเดน? ว่า ผลกระทบทางบวกคือ เนื่องจากทรัมป์ ไม่ให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน ทำให้ภาคการผลิตไทย ไม่ต้องติดฉลาก “Carbon Footprint” หรือ ตอบโต้จาก “Carbon Tariff” หรือไทยไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเทศภาวะโลกร้อนมากนัก ส่วน ไบเดน เป็นการค้าแบบเจรจา (Multilateral) จะไม่รุนแรงเท่าทรัมป์ แต่จะไม่สำเร็จเพราะมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ข้อสรุปทางการค้าเกิดขึ้นยาก แต่ก็จะไม่มีกรณีพิพาททางการค้าเท่า ทรัมป์ ขณะที่ ไบเดน เน้น “3B (Build Back Better)” มีการลงทุนภายในประเทศ เป็นโอกาสของสินค้าไทย ใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อโควิด-19

ส่วนผลกระทบทางลบนโยบายของ ทรัมป์ คือ “America First”, “Go it Alone” และ Unilateral เป็นนโยบายที่กระทบการส่งออกของไทย เพราะจะมีการปกป้องสินค้าของสหรัฐ นอกจากนี้การทำสงครามการค้าและเทคโนโลยีกับจีนจะเข้มข้นขึ้น การค้าโลกจะงัดมาตรการการกีดกันทางการค้าของแต่ละประเทศมาตอบโต้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ การคว่ำเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ส่วน ไบเดน การปกป้องและรักษาผลประโยชน์สหรัฐ ยังคงมีอยู่ การขาดดุลการค้าสหรัฐกับคู่ค้า ยังเป็นประเด็นที่ ไบเดน ให้ความสำคัญ ผลกระทบจากนโยบายการปกป้องทางการค้าจากสหรัฐ ยังคงมีอยู่แต่อาจจะไม่รุนแรงเท่ากับ ทรัมป์ ประเด็นที่ ไบเดน เน้น Climate Change และสิ่งแวดล้อมของภาคการผลิต และมีโอกาสที่จะใช้เป็นการกีดกันทางการค้า

นายอัทธ์ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว หาก ทรัมป์ ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคือ ต้องพึ่งพาตลาดเอเชียและอาเซียนมากขึ้น ฟื้นกรอบเจรจาความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (TIFA) เพื่อแก้ไข ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะเข้าสู่เข้าสู่การเจรจาเพื่อเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งไทยต้องรับการย้ายฐานการผลิตจากจีน และพร้อมรับมือกับการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) เพิ่ม และหาก ไบเดน เป็นประธานาธิบดี ผู้ประกอบการไทยต้องลดการปล่อย CO2 ของห่วงโซ่การผลิต บรรจุภัณฑ์รักสิ่งแวดล้อม ใช้แนวคิด BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อส่งออกและการผลิต และต้องเตรียมตัวสำหรับ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี)

นายอัทธ์ ยังกล่าวถึง ผลการศึกษา “ผลกระทบการเลือกตั้งสหรัฐฯ กับการปรับตัวภาคการผลิตของไทย” ว่า 9 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐ 790,494.51 ล้านบาท นำเข้าจาก สหรัฐ 384,793.45 ล้านบาท และไทยได้ดุลการค้า 405,701.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งไทยได้ดุลการค้าอยู่ที่ 314,121.72 ล้านบาท

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังได้วิเคราะห์โอกาสของสินค้าไทยที่จะส่งออกไปตลาดสหรัฐว่าสินค้าใดเป็นดาวรุ่ง หรือดาวร่วง ใช้ข้อมูลมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทต่างๆ ของไทยไปตลาดสหรัฐ ในช่วงปี 2560-2562 ซึ่งเป็นสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ พบว่า สินค้าดาวรุ่งคือ สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ผัก ผลไม้สดและแช่เย็น พืชน้ำมัน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติกผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

ส่วนสินค้าดาวร่วง ประกอบด้วย เครื่องดื่ม เกษตรแปรรูป เช่น อาหารทะเลแปรรูป กุ้ง ปู ปลาทูน่าแปรรูป น้ำตาลทรายขาว ผลไม้กระป๋อง และน้ำผลไม้ รองเท้าและชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องกีฬาและเครื่องเล่มเกม หมวกและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ เครื่องถ่ายเอกสาร ส่วนประกอบและอุปกรณ์ เครื่องดนตรีและส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ยิปซัม ก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้ การพิจารณาสินค้าดาวรุ่ง ดาวร่วง นั้นใช้แนวคิดเมตริกซ์ BCG (สัดส่วนการส่งออกเฉลี่ย และอัตราการขยายตัวของการส่งออกเฉลี่ย) ประกอบกับการพิจารณาร่วมกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่มีอัตราการเติบโต และหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกที่จะเป็นดาวรุ่ง หรือดาวร่วง อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตขึ้นกับนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน