‘เฉลิมชัย’ สั่งตั้งทีมสกัดยางราคาร่วง-ซื้อขายไร้ใบอนุญาตผิดกฏหมาย ลั่นผูกขาดหรือลดการแข่งขันหรือจํากัดการแข่งขันโดนฟันแน่

สั่งตั้งทีมสกัดยางราคาร่วง – นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการหารือระหว่างกรมการค้าภายใน (คน.) สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ยางพารา และมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราทั้งระบบ ว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งให้ตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจ ประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ เพื่อติดตามผลมาตรการต่างๆ ที่จะรักษาเสถียรภาพราคายางพารา หลังจากสัปดาห์ก่อนหน้านั้นราคายางพาราผันผวน

ซึ่งมีปัจจัยจากหลายสาเหตุ อาทิ 1. ผู้ประกอบการเก็งกำไรในช่วงสถานการณ์ผันผวน 2. นักลงทุนเทขายในตลาดล่วงหน้าต่างประเทศเพื่อทำกำไร และปริมาณสต๊อกยางเซี่ยงไฮ้ปรับตัวสูงขึ้น ณ วันที่ 6 พ.ย. 2563 อยู่ที่ 253,537 ตัน เพิ่มขึ้น 5,627 ตัน และ 3. ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การขาดแรงงานจากสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ มาตรการต่างๆ จากภาครัฐ รวมทั้งสถานการณ์โรคใบร่วง และสภาพอากาศที่แปรปรวน ฝนตกพายุเข้า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ อีก เช่น ราคาน้ำมันดิบ และค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ จากการหารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายาง ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 1. มาตรการทางกฎหมาย ที่นำมาบังคับใช้ 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. ว่าด้วยและสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 28 โดยให้จุดรับซื้อยางมีการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อยางพาราที่ชัดเจน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อขายยางพารา ซึ่งหากพบว่าผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่แข่งขันในตลาดเดียวกัน กระทําการใดๆ อันเป็นการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในตลาดนั้นในลักษณะ อย่างหนึ่งอย่างใด ตามมาตรา 54 พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จะมีบทลงโทษอย่างเป็นรูปธรรม และ พ.ร.บ. ควบคุมยางพ.ศ. 2542 ตามมาตรา 22 และมาตรา 23 โดยระบุให้ผู้ค้ายางทุกรายต้องมีใบอนุญาตค้ายาง และจะต้องรายงานบัญชีการซื้อขายยาง ซึ่งกรมวิชาการเกษตรและกยท. จะร่วมมือกันออกตรวจใบอนุญาตค้ายางแบบปูพรมทุกพื้นที่

สำหรับมาตรการที่ 2 กระทรวงเกษตรฯ โดยการยางแห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางควบคู่กับมาตรการทางกฎหมาย ได้แก่ 1. โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกร 2. เพิ่มจุดรับซื้อและรวบรวมน้ำยางสด และ 3. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน