นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เร่งติดตามผลกระทบจากการขยายความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-จีน เพิ่มเติม ที่จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ซึ่งมีผลให้มีสินค้าจากจีนอีก 703 รายการ ได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มเติมไม่ต้องเสียภาษีนำเข้ามาในไทย โดยมีรายการสำคัญ เช่น สินค้าเกษตร รถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์ส่วนควบและอุปกรณ์เสริมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะต้องดูว่าหากไม่เสียภาษีแล้ว และมีการนำเข้ามาในไทยมากน้อยแค่ไหน

“สิ่งที่น่าห่วงคือการนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลแบบพลังงานไฟฟ้าจากจีน ซึ่งปกติจีนจะเสียภาษี 20% แต่ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะไม่ต้องเสียภาษีเลย ซึ่งหากมีการนำเข้ามามากๆ อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศ รวมถึงแผนส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ ที่ต้องการดึงผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคด้วย เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีราคาถูกมากเริ่มต้นเพียงคันละ 2 แสนบาท ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามมาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาขายในไทย รวมถึงผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ด้วย”

“ในเร็วๆ นี้ กรมศุลกากร จะมีการประชุมร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม เพื่อหาผลสรุปจากผลกระทบจากรถยนต์ไฟฟ้า และหาแนวทางป้องกันว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า ในกรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-จีน ได้กำหนดให้สินค้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลแบบใช้พลังงานไฟฟ้าให้อยู่หมวดอื่นๆ ส่งผลให้จะได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีเพิ่มเติมในรอบปีหน้าด้วย ซึ่งสาเหตุที่ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าเฉพาะกลุ่ม เนื่องจากในการเจรจาเมื่อปี 2546-47 สมัยนั้นรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่ได้เป็นสินค้าที่มีความนิยมมากนัก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าได้กลายเป็นอุตสาหกรรมของไทยและโลกจึงต้องมีการหารือใหม่ โดยอาจจำเป็นต้องหาแนวทางกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีขึ้นมา เช่น การกำหนดมาตรฐานรถยนต์นำเข้าให้เข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนนำเข้ามาในไทยมากจนทำให้อุตสาหกรรมในประเทศเดือดร้อน หรือขัดแย้งกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล แต่ทั้งหมดจะต้องไม่ขัดกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)

นายกุลิศกล่าวว่า การเปิดเอฟทีเอให้นำเข้าสินค้าจากจีน ได้กลายเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อแผนการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรในปี 2561 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 110,000 ล้านบาทด้วย เนื่องจากจะมีสินค้าอีกหลายรายการหลายล้านล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งยังมีผลกระทบจากการใช้กฎหมายภาษีใหม่ในประเทศ ทั้งพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ที่เริ่มใช้ไปเมื่อ 16 ก.ย. ซึ่งส่งผลให้ผู้นำเข้ามีการชะลอนำเข้าสินค้าเข้ามาไทยเพื่อรอดูความชัดเจนของฐานราคาที่ใช้คำนวณภาษี รวมถึงจะมีพ.ร.บ.ศุลกากร ฉบับใหม่ที่เตรียมประกาศใช้ในวันที่ 13 พ.ย.นี้อีกด้วย

“การจัดเก็บรายได้ในปีนี้ให้ตามเป้าคงจะเหนื่อย ซึ่งกรมต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้เข้มข้นขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้มากที่สุดเพื่อลดการรั่วไหลจากการจัดเก็บภาษี และลดการใช้ดุลยพินิจจากรัฐบาล พร้อมกับมีการติดตามประเมินผลการจัดเก็บภาษีเป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งเข้มข้นกว่าเดิมที่จะประเมินช่วงครึ่งปี สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ในปี 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 104,785 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการณ์ 15,715 ล้านบาท เนื่องจากมีผู้นำเข้าใช้สิทธิประโยชน์ได้รับการยกเว้นทางภาษีส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวมถึงการยกเว้นภาษีจากเอฟทีเอ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน