ส่องทัศนะภาครัฐ-เอกชนไทย

เศรษฐกิจปีหน้ากับปัญหาโควิด : รายงานพิเศษ จัดสัมมนาส่งท้ายปี

ส่องทัศนะภาครัฐ-เอกชนไทย เศรษฐกิจปีหน้ากับปัญหาโควิด : รายงานพิเศษ จัดสัมมนาส่งท้ายปี – ชวด ของหนังสือ พิมพ์ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ ภายใต้หัวข้อ ‘Thailand 2021 : New Game, New Normal’ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั่วโลกยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร แล้วอนาคตประเทศไทยในปี 2564 หากต้องอยู่กับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอนต่อไป ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะเป็นบวก โดยนับรวมตัวเลขนักท่องเที่ยวและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐแล้วคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 4-4.5% ซึ่งถือว่าฟื้นตัวเร็วกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเกิดวิกฤตปี 2540 อย่างไรก็ดีภาคท่องเที่ยวกว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี หรือตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับไปใกล้เคียงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ 40 ล้านคน ในปี 2567 ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเริ่มเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 8 ล้านคน ปี 2565 เพิ่มเป็น 16 ล้านคน ปี 2566 ที่ 32 ล้านคน และ 40 ล้านคน

ในปี 2567 ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับวัคซีนและประเทศต้นทางด้วย “ปีนี้ถูกผลกระทบจากโควิด ทำให้กำลังซื้อต่างประเทศจากการท่องเที่ยวหายไป คิดเป็น 12% ของจีดีพี กระทรวงการคลังไม่นิ่งนอนใจออก

มาตรการต่างๆ มาดูแลเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการคนละครึ่ง ที่จะมีการต่ออายุอีก 3 เดือน ส่วนมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวจะขยายต่อหรือไม่ อยู่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวจะพิจารณา” รมว.คลังกล่าวอีกว่า ปีหน้าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากคือการพัฒนาดิจิทัล ที่จะมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน กระทรวงการคลังจะพัฒนาระบบรองรับการเบิกจ่ายระหว่างรัฐกับรัฐและรัฐกับเอกชน และปรับโครงสร้างภาษี ในภาวะรายจ่ายเยอะ ขณะที่การจัดเก็บรายได้เหมือนเดิม รายการลดหย่อนภาษี มากขึ้น ทำให้กระทรวงการคลังจำเป็นต้องปรับ

โครงสร้างภาษี โดยจะเน้นการเก็บภาษีสินค้าและบริการออนไลน์มากขึ้น นางขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ภาคธนาคารในประเทศยังมีความแข็งแกร่งมากกว่าปี 2540 จากเงินทุนสำรองของธนาคารที่มีอยู่ในระดับที่สูงมาก สะท้อนภาพความแข็งแกร่งและการมีเสถียรภาพของระบบธนาคารไทย ภาวะวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นธนาคารให้ความสำคัญมากใน

การดูแล และให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยธนาคารกสิกรไทยให้ความช่วยเหลือลูกค้าทั้งลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น ลดยอดการผ่อนต่อเดือน พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และสนับสนุนเงินทุนด้วยสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ทำให้หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้พบว่า 81% ของลูกค้าที่เข้ามาตรการพักชำระหนี้กว่า 100,000 ราย สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติแล้ว ส่วนกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม

คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาสู่สภาวะเศรษฐกิจแบบเดิม ต้องใช้เวลา 2-3 ปีด้วยกัน ซึ่งยังคงมีความยาก โดยเฉพาะรายได้จากภาคการท่องเที่ยว เพราะ

นับตั้งแต่ปี 2557 ท่องเที่ยวเป็นพระเอกและค้ำจุนจีดีพีของประเทศให้เติบโตมาโดยตลอด แต่พอเจอการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลับหดตัวลงหนัก หลังมีมาตรการไทยเที่ยวไทยรายได้ท่องเที่ยวเริ่มผงกขึ้น และมองว่าหากมีมาตรการต่อเนื่องเพิ่มเติมน่าจะหนุนให้รายได้จากภาคท่องเที่ยวให้สูงขึ้นไปอีก ส่วนภาคการส่งออกเจอความท้าทายในเรื่องของค่าเงินบาทแข็ง และทำให้ธุรกิจรายใหญ่หันลงมาเล่นตลาดกลาง และตลาดกลางลงมาแข่งในตลาดเล็ก จะกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอี อาจเจอกับ

สถานการณ์ที่ยากลำบากมากกว่าเดิม โจทย์แรกที่ต้องอยู่รอดให้ได้ภายใต้ 4 การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร คือโครงสร้างประชากรผู้สูงวัย การค้ากับสภาพแวดล้อมของการแข่งขันทางการค้าจะ เปลี่ยนไป ทั้งสงครามการค้าโลกและสงครามเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและคู่ค้าที่เปลี่ยนไป สุดท้ายคือการทำธุรกิจที่เน้นความยั่งยืน

จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าคนไทย 74% พร้อมจะใช้จ่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ด้าน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทำธุรกิจในอนาคต จะเริ่มเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างมูลค่าจากเครือข่ายพันธมิตร

เเข่งขันการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีเกิดอุตสาหกรรมข้ามอุตสาหกรรมกันได้ ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานถูกท้าทายด้วยอัตราเร่งของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด สำหรับ ปตท.เน้นปรับการดำเนินงานเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อความยั่งยืน และให้สอดคล้องกับสถานการณ์พลังงาน มองหาโอกาสใหม่ๆ เน้นการสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดย

ปตท.ต่อยอด เร่งพัฒนา และขยายเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลก ได้แก่พลังงานใหม่, วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์, ความคล่องตัวและไลฟ์สไตล์, ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง, โลจิสติกส์ และเอไอ รวมถึงระบบอัตโนมัติ ขณะที่ นางวาสนา ลาทูรัส ประธานกรรมการบริหาร ผู้ก่อตั้ง ‘นารายา’ กล่าวว่า ทางรอดช่วงเกิดวิกฤตโควิดคือเดินหน้าลดต้นทุนด้วยการตัดสินใจปิด 2 โรงงาน

ลดคนงานกว่า 1,000 คน และทยอยปิดสาขาที่ไม่ทำเงิน และเริ่มหันมาทำตลาดออนไลน์รักษากระแสเงินสด ทำให้สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้น สามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ ต้นทุนลดลงไป 70% โดยสำนักงานเริ่มทำงานเต็มตัว และในเดือน ม.ค.2564 จะกลับมาเปิดบริการตามปกติ และทยอยปิดสาขาในห้างที่หมดสัญญา พร้อมเตรียมแผนรุกมาร์เก็ตเพลสออนไลน์แทน เนื่องจากมองว่าตลาดนักท่องเที่ยวหลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากอยู่ที่ไหนก็สั่งซื้อสินค้าได้ไม่จำเป็นต้องซื้อกลับไป

ส่วนนางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เชื่อว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเร็วกว่า 4 ปี แม้วิกฤตโควิดจบ ปัญหายังไม่หมดและอาจจะแรงขึ้นด้วย พร้อมมองการฟื้นตลาดท่องเที่ยวแบ่งเป็น 3 ระยะ เริ่มจากนักท่องเที่ยวในประเทศ ในระยะขับรถได้เขาใหญ่ หัวหิน พัทยา ซึ่งโรงแรมเครือดุสิตขณะนี้ มีอัตราเข้าพักแล้ว 60-70% ส่วนระยะ 2 เปิดประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นด้านธุรกิจและต้องทำควบคู่กับท่องเที่ยวไทย

และระยะที่ 3 เปิดประเทศเต็มที่ แต่เชื่อว่าจะไม่เหมือนเดิม สำหรับแนวทางเพื่อฟื้นการท่องเที่ยว 5 เรื่องต้องมี 1.กำหนดเวลาเปิดประเทศที่ชัดเจน 2.หาจุดยืนด้านการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวให้อยากเดินทางมา 3.ชูการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 4.เปลี่ยนจุดขายท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ 5.ท่องเที่ยวจากนี้ต้องตอบโจทย์ 3 เรื่องคือความสะดวกสบาย สร้างประสบการณ์ที่ดี และต้องมีความคุ้มค่าดี มีคุณภาพ

ปิดท้ายที่ นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2564 ขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศ มาตรการรัฐ และการแก้ปัญหาเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันเอกชนรายใหญ่ช่วยตัวเองเต็มที่อยู่แล้ว ที่ผ่านมาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ช่วยเอสเอ็มอี วงเงิน 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันปล่อยได้เพียง 1 แสนล้านบาท

สาเหตุหลักเพราะธนาคารไม่อยากเสี่ยงเพราะกลัวหนี้เสีย อย่างไรก็ดีเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการ ‘แมชชิ่งฟันด์’ โดยรัฐบาลลง 50% ธนาคารลง 50% แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อเอสเอ็มอีไปต่อได้ ต้องคืนหนี้ส่วนนี้ให้กับรัฐบาลและธนาคารก่อน อย่างไรก็ดีถ้าเอสเอ็มอีอยู่ได้ จะมีเงินมาซื้อบ้าน ซื้อสินค้า สามารถปั่นเศรษฐกิจให้เติบโตได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน