นายกฯ ตรวจเยี่ยมสถานีกลางบางซื่อ และทดลองนั่งรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ลั่นดันไทยเป็นศูนย์กลางระบบรางอาเซียน

บิ๊กตู่’ทดลองนั่งรถไฟสีแดง – เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 ธ.ค. 2563 ณ สถานีกลางบางซื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี และคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานีกลางบางซื่อ พร้อมรับฟังแผนการพัฒนาที่ดินบริเวณรอบสถานีกลางบางซื่อ และทดลองเดินขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดง ระหว่างสถานีกลางบางซื่อ-สถานีรังสิต โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมโครงการฯ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะ “ระบบคมนาคมขนส่งทางราง” ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ช่วยเชื่อมโยงทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

รัฐบาลจึงได้เร่งพัฒนาทางรางอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร โครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อเชื่อมต่อภูมิภาคของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นต้น

สำหรับสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ นั้นก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ย่านบางซื่อของการรถไฟฯ ซึ่งได้มีแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ควบคู่ไปกับสถานีกลางบางซื่อในระยะยาว จะช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สถานีกลางบางซื่อแห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและมีมาตรฐานเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก ในการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารและทุกคนตามหลักอารยสถาปัตย์ สามารถเปลี่ยนถ่ายการเดินทางจากระบบราง ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าเชื่อมสนามบิน และยังเชื่อมต่อการเดินทางของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง และระบบขนส่งรูปแบบอื่นๆ อาทิ รถสาธารณะ รถโดยสารประจำทาง รถโดยสาร บขส. รถแท็กซี่ ได้ครบครัน

รวมถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟฯ จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบราง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางและธุรกิจแห่งภูมิภาคอาเซียน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นและขยายธุรกิจและเศรษฐกิจในพื้นที่

นายนิรุฒ กล่าวว่า ปัจจุบันงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง และงานก่อสถานีรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 13 สถานีและงานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ คงเหลืองานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้าสำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ประกอบด้วย งานระบบราง ระบบควบคุมการเดินรถและระบบอาณัติสัญญาณ ระบบโทรคมนาคม ระบบจำหน่ายตั๋วโดยสาร อุปกรณ์สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุง ระบบรักษาความปลอดภัยสถานีไฟฟ้าย่อยและหม้อแปลงไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนรถไฟฟ้า และระบบอื่นๆ งานจัดหาตู้รถไฟฟ้ารวมถึงการจัดเตรียมอบรมบุคลากรในการบริหารและซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า มีความก้าวหน้า 89.10% โดยคาดว่าจะทดสอบการเดินรถเสมือนจริง แล้วเสร็จเดือนมี.ค. 2564 จากนั้นจึงจะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการ ในเดือนก.ค. 2564 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนพ.ย. 2564 ส่วนอัตราค่าโดยสาร เบื้องต้น รฟท. จะกำหนดตามมาตรฐาน ซึ่งพบว่ามีราคาค่าแรกเข้ากำหนดอยู่ที่ 15 บาท

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้เยี่ยมชมสถานีกลางบางซื่อ ภายในสถานี ประกอบด้วย อาคารทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสารและจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางในกรุงเทพฯ ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลา ประกอบด้วย รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3
เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน และชานชาลารถไฟความเร็วสูง โดยแบ่งเป็นชานชาลาสำหรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ จำนวน 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา นอกจากนี้ ยังมีชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถ ที่สามารถจอดรถยนต์
ได้ถึง 1,624 คัน มีถนนทางเข้าออกสถานีได้หลายทิศทาง เชื่อมต่อกับทางด่วนพิเศษ มีพื้นที่รองรับรถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ และยังมีพื้นที่สวนสาธารณะพร้อมบึงน้ำขนาดใหญ่

ด้านการบริหารสถานีในระยะแรก การรถไฟแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้บริหารสถานีกลางบางซื่อ และมอบหมายให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟชานเมือง สายสีแดง รวมถึงการบริหารสถานีรถไฟสายสีแดง จำนวน 12 สถานี โดยเมื่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิตและช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เปิดให้บริการแล้วคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 86,000 คน-เที่ยว/วัน ซึ่งจะส่งผลให้สถานีกลางบางซื่อกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่
ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ทดลองเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง จากสถานีกลางบางซื่อ ไปยังสถานีรังสิต เพื่อดูความคืบหน้าของงานก่อสร้าง ซึ่งรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อถึงดอนเมือง เป็นทางรถไฟยกระดับใช้ความเร็ว ในการเดินทาง 120 ก.ม./ชม. และช่วงดอนเมืองถึงรังสิต ซึ่งเป็นทางรถไฟระดับผิวดิน มีรั้วกันสองข้างทางและสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ สามารถใช้ความเร็วในการเดินทางได้ 140 ก.ม./ชม. หลังทดสอบแล้วเสร็จจะสามารถให้บริการแก่ประชาชนในจังหวัดปทุมธานี

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้รับการต้อนรับจาก นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี โดยร่วมรับฟังแผนต่อขยายสายสีแดง ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ในโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้นำเสนอแนวทางการเชื่อมต่อสถานีรถไฟรังสิตกับโครงข่ายต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน อีกทั้งการรถไฟฯ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการเคหะแห่งชาติ ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงการอาคารเช่าสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นอาคารพักอาศัยสูง 8 ชั้นจำนวน 2 อาคาร จำนวน 360 ห้อง โดยอยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในมิ.ย. 2564 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อเริ่มก่อสร้าง และให้ประชาชนเข้าพักอาศัยใน ต.ค. 2566 อันเป็นการบูรณการระบบรางควบคู่กับการพัฒนาเมืองตามแนวนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน