นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขับเคลื่อนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน มีเป้าหมายนำร่อง 100 เมกะวัตต์ สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ (ซีโอดี) ได้ในปี 2564

โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนในการดำเนินการคือ ส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อาศัยที่ติดตั้งโซลาร์ มีเป้าหมาย 50 เมกะวัตต์ และได้ปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าในราคา 2.20 บาทต่อหน่วยจากเดิมรับซื้อในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ครอบคลุมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่และที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบรายเดิม คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 8-9 ปี

ส่วนเป้าหมายอีก 50 เมกะวัตต์ เห็นชอบให้ขยายผลการดำเนินโครงการไปยังกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาลและโครงการสูบน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อให้เป็นโครงการนำร่อง โดยกลุ่มนี้กำหนดรับซื้อไฟในอัตรา 1 บาทต่อหน่วย แบ่งเป็นรับซื้อจากสถานศึกษา 20 เมกะวัตต์ / กลุ่มโรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์ และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เช่น ภาคเกษตรกรรมปลูกพืชเศรษฐกิจ อีก 10 เมกะวัตต์ ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี

“กรณีกลุ่มนี้เป็นการลงทุนโดยภาครัฐ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ไปหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ คาดว่า จากเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์จะสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท”

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการรายใหม่ ในการพิจารณาเข้าร่วมโครงการ จะดูถึงศักยภาพในการขายไฟเข้าระบบว่ามีความเสถียรภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าปกติ โดยระหว่างนี้กระทรวงพลังงานอยู่ในขั้นตอนกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 1/2564 หากดำเนินโครงการเป็นไปตามเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ได้ในปีหน้า กระทรวงพลังงานอาจพิจารณาเปิดโครงการอีก 50 เมกะวัตต์ในปี 2565 เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นในประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน