นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศช่วง 9 เดือนแรกปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2559 โดยการใช้กลุ่มน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 30.01 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 3.9% น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี7) อยู่ที่ 62.14 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.5% แม้ราคาขายปลีกจะปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2559 แต่ปริมาณการใช้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมีปริมาณเพิ่มขึ้น 4.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

“ส่งผลให้จำนวนสถานีบริการน้ำมันสิ้นเดือนมิ.ย. 2560 มีจำนวนปั๊มน้ำมันทั้งสิ้น 26,526 แห่ง เพิ่มขึ้นจำนวน 1,375 แห่ง เมื่อเทียบกับยอดทั้งปี 2559 ที่มีปั๊มน้ำมันทั้งสิ้น 25,613 แห่ง และคาดแนวโน้มปั๊มน้ำมันจะมีเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่อง โดยพบว่าจำนวนปั๊มน้ำมันดังกล่าวเป็นการเติบโตจากการขยายปั๊มของ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอร์ยี่ หรือ PTG ที่มีการขยายปั๊มในช่วงครึ่งแรกปีนี้สูงสุดถึง 266 แห่ง มาอยู่ที่ 1,506 แห่ง ขณะที่ปั๊ม ปตท. มีการขยายปั๊มเพิ่มอีก 117 แห่ง มาอยู่ที่ 1,721 แห่ง”

นอกจากนี้ การใช้ปริมาณก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) อยู่ที่ 16.66 ล้านกิโลกรัม(ก.ก.)/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้ทุกภาค โดยภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นสูงที่สุด 5.38 ล้านก.ก./วัน เพิ่มขึ้น 11.6% รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1.76 ล้านก.ก./วัน เพิ่มขึ้น 6% และภาคครัวเรือนอยู่ที่ 5.85 ล้านก.ก./วัน เพิ่มขึ้น 2.1% ยกเว้นภาคขนส่งเฉลี่ยการใช้อยู่ที่ 3.67 ล้านก.ก./วัน ลดลง 9.6%

นายวิฑูรย์ ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าการประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ แบบคําขอ แบบใบรับรอง แบบบัตรประจําตัว และหลักสูตรการฝึกอบรม ของผู้ฝึกอบรม วิทยากร และผู้ปฏิบัติงาน พ.ศ.๒๕๕๙ ผู้ประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 ต้องดำเนินการให้มีผู้ปฏิบัติงานที่ผ่านการฝึกอบรมภายใน 2 ปีตามกฎหมายกำหนด ว่าขณะนี้มีผู้ประกอบกิจการส่งพนักงานเข้าอบรมเพียง 50,000 คนเท่านั้น จากทั้งหมดที่คาดมี 2 แสนคนทั่วประเทศ ซึ่งหากครบกำหนดในวันที่ 7 มิ.ย. 2561 แล้วไม่ดำเนินการจะถือว่าผิดกฎหมาย

“กฎหมายดังกล่าวกำหนดเวลาให้ผู้ประกอบการน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ต้องส่งพนักงานเข้ารับการอบรมภายใน 2 ปี นับจากวันประกาศกรมฯ ประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2559 หากพ้นกำหนด ผู้ประกอบการมีโทษตามกฎหมาย มาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อถึงวาระการต่ออายุใบอนุญาต หากไม่มีผู้ปฏิบัติงานจะไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาต ต้องขออนุญาตใหม่”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน