เอกชนผนึกกำลังย้ำอาหารทะเลไทยปลอดโควิด-19 ต่างชาติไร้ปัญหาเชื่อมั่นออร์เดอร์ต่อเนื่อง – แนะฉีดวัคซีนให้ต่างด้าว

ย้ำอาหารทะเลปลอดโควิด – นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ร่วมแถลงข่าว เรื่อง “แนวทางแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมง” จัดโดย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนใน จ.สมุทรสาคร ร่วมมือกันดำเนินมาตรการป้องกันเชิงรุกการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้น ในส่วนโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง มีการเร่งรัดการดำเนินการความร่วมมือภาครัฐและสถานประกอบการเร่งรัดการตรวจคัดกรองพนักงานและแรงงาน เพื่อแยกแยะบุคลากรที่มีเชื้ออยู่ในตัวแต่ไม่มีอาการหรือป่วยไข้ด้วยโควิด-19 แต่สามารถเป็นพาหะนำโรคหรือทำให้คนอื่นติดเชื้อได้ เพื่อหยุดการแพร่ระบาดในจังหวัด

อีกทั้ง 3 สมาคม คือ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐตั้งแต่เดือนส.ค. 2563 ในการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผ่านโครงการ “การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID-19 Prevention Best Practice)” และได้รับหนังสือรับรองว่าสินค้าได้มีการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออกให้กับผู้ผลิตอาหาร โดยหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ผู้บริโภค และผู้นำเข้าต่างประเทศได้ เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอแนะของภาคเอกชน ได้แก่ การตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ ผู้ประกอบการหลายรายในสมุทรสาครมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวด้วยตนเอง แต่ให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนค่าตรวจ หรือใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษีให้ผู้ประกอบการ และเห็นว่าแรงงานต่างด้าว ควรต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออย่างถาวร ภาครัฐควรมีมาตรการทางภาษี เพื่อจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสำหรับแรงงานต่างด้าวด้วย ซึ่งในเร็วๆ นี้ จะมีการหารือกันอีกครั้งในกลุ่มผู้ประกอบการ

“ยืนยันว่าอาหารทะเลของไทยปลอดจากโควิด-19 เพราะผู้ประกอบการไม่มีใครอยากทำลายธุรกิจตนเอง และจนถึงขณะนี้ผู้นำเข้าก็ยังไม่สั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทยทุกชนิด เพราะเชื่อมั่นในระบบการป้องกันเชื้อโควิด-19 ของไทยที่ดำเนินการมาตั้งแต่ส.ค.ปีที่แล้ว”นายพจน์ กล่าว

นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ดำเนินการตามมาตรการการป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างเต็มที่เหมือนสมาคมอื่นๆ ตั้งแต่มีการระบาดรอบแรก และถึงปัจจุบันก็เน้นเรื่องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ 100% ในโรงงาน ซึ่งเป็นการตรวจแบบ rapid test ต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจดังกล่าว และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีปัญหาเรื่องคำสั่งซื้อหรือความไม่เชื่อมั่นจากประเทศผู้นำเข้า

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า สมาคมให้นโยบายสมาชิกของสมาคม ทั้ง โรงงานทูน่า โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ และผู้ค้าจัดส่งปัจจัยการผลิต (Supply chain) ให้ดำเนินการตามมาตรการพิเศษของกระทรวงสาธารณสุข และกรมประมง ในการป้องกันการปนเปื้อนไวรัสในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำส่งออก เพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิต

ทั้งนี้ สมาชิกของสมาคมฯ ได้เข้าร่วมโครงการ “การปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน การปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID-19 Prevention Best Practice)” ซึ่งจะได้รับหนังสือรับรองว่าสินค้าได้มีการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกระบวนการ ผลิตอาหารส่งออก

“เราได้เผยแพร่วิดิโอขั้นตอนการปฎิบัติงานในโรงงานไปยังประเทศผู้นำเข้าโดยได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั่วโลกให้ช่วยเผยแพร่วิดิโอดังกล่าว ตั้งแต่เดือนส.ค. ปีที่แล้วถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำ ซึ่งช่วยให้ผู้นำเข้าเชื่อมั่นในสินค้าทูน่าของไทยมากขึ้นและจนถึงขณะนี้ก็ไม่มีปัญหาการยกเลิกหรือคำสั่งซื้อแต่อย่างใด” นายชนินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ ปลาทูน่ากระป๋องของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ไปทั่วโลก และไทยส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเป็นอันดับหนึ่งของโลก มูลค่ากว่า 8.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ เพราะกระบวนการผลิต และกระบวนการควบคุมคุณภาพของปลาทูน่ากระป๋องทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บรักษาปลาทูน่าหลังจับจากทะเลจนถึงส่งขาย อยู่ภายใต้ระบบ “การวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้อง ควบคุม” หรือ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) สินค้าผ่านการฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความ ดัน (RETORT) ที่อุณหภูมิสูงกว่า 115 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานจนค่าความร้อนมากพอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ ทั้งหมด รวมถึงไวรัสโควิด-19 ซึ่งค่าความร้อนที่ใช้อ้างอิงจากมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO/CODEX) ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องปลอดภัยจากการปนเปื้อนโควิด-19

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า สมาชิกของสมาคมดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาล และคำนึงถึงมาตรการความปลอดภัยด้านอาหารมาตลอดโดยยึดมาตรฐานระดับโลกมาปฎิบัติและเมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขึ้นก็เพิ่มมาตรการอื่นๆ ที่ภาครัฐกำหนดขึ้นมาหรือ Food Safety Plus ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ไม่มีปัญหาด้านการส่งออกเพราะต่างประเทศให้ความเชื่อมั่นในสินค้าของไทยอย่างมาก

นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจ.สมุทรสาคร เจ้าของตลาดทะเลไทย กล่าวว่า หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น ตลาดได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการระบาดอย่างเต็มที่ ยืนยันว่าขณะนี้ตลาดทะเลไทยปลอดโควิด-19 แน่นอน เพราะกำหนดให้ทุกคนที่เข้าไปบริเวณตลาดต้องมีเอกสารผ่านการตรวจโควิด-19 ว่าไม่เป็นผู้ติดเชื้อ หากไม่มีเอกสารมาแสดงก็ไม่ได้ผ่านเข้าไป รวมทั้งมีการฉีด พ่น ล้างทำความสะอาดพื้นที่ บริเวณ ภาชนะตามมาตรการของภาครัฐ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าอาหารทะเลจากตลาดทะเลไทยปลอดภัยแน่นอน และย้ำว่าต้องปรุงสุกก่อนรับประทาน

นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การบริโภคสัตว์น้ำภายในประเทศ กรมประมงขอย้ำอีกครั้งว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำไทยในรูปแบบต่างๆ ทั้งสด และแปรรูป สามารถรับประทานได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรน่า 2019 อยู่ในตัวของสัตว์น้ำแต่อย่างใด อีกทั้งสัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็นไม่มีปอดแต่ใช้เหงือกในการหายใจ และยังมีความแตกต่างของผิวเซลล์ ซึ่งปลามีโครงสร้างไม่เหมือนคนทั้งหมด ทำให้โอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์เข้าสู่เซลล์ของสัตว์น้ำเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังไม่เคยมีรายงานการเกิดโรคจากเชื้อไวรัส กลุ่มเดียวกันนี้ อาทิ SAR CoV2 และ MERS ในสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เลือดเย็นมาก่อน

อีกทั้งสินค้าประมงที่ผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) และ Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP) มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูงสุด นอกจากนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย กำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่มีความเข้มข้นมากขึ้นในทุกๆ ด้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งวัตถุดิบ และการปฏิบัติในโรงงาน ทั้งในส่วนของผู้ซื้อ และผู้นำเข้า ว่าสินค้า และผลิตภัณฑ์ประมงที่ผลิตจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำ ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน ไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุก และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตัก และล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำเป็นอย่างดีก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน