เดินหน้าสู้โควิด-19 – ในปี 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่ทั่วโลกประสบปัญหาใหญ่การระบาดของเชื้อโควิด-19 รัฐบาลทุกประเทศต่างต้องงัดนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อสกัดการระบาดของ โลก และทำให้เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไป

กระทรวงพาณิชย์ หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนผู้บริโภคทั้งระดับรากหญ้า ไปจนถึงผู้ประกอบการในประเทศทุกระดับ ทั้งนำเข้าส่งออก

นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2564 จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก ในการเป็นหนึ่งในภาครัฐที่จะนำพาเศรษฐกิจของไทยเติบโตในเวทีโลก

โดยเฉพาะการส่งออก ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมกับภาคเอกชนดำเนินกิจกรรมต่างๆ เข้มข้นมากขึ้น กำหนดแผนงานโครงการไว้ชัดเจนรวม 343 กิจกรรม ดำเนินการในประเทศ 135 กิจกรรม ต่างประเทศ 208 กิจกรรม

เช่น ส่งเสริมอาหารไทย การเจรจาธุรกิจออนไลน์ หรือเจรจาการค้าในรูปแบบไฮบริด (นำสินค้าตัวอย่างไปโชว์ และเจรจาซื้อขายทางออนไลน์)

ผลักดันสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังของประเทศต่างๆ อาทิ Amazon ในตลาดสิงคโปร์ และสหรัฐ Lotte ในตลาดเกาหลีใต้ Tmall เครืออาลีบาบา ในตลาดจีน Bigbasket ในตลาดอินเดีย Khaleang.com ในตลาดกัมพูชา ฯลฯ

รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าและบริการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark หรือ T Mark (ทีมาร์ค) ทั้งในและต่างประเทศ

ดำเนินตามยุทธศาสตร์เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดมีผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนของประเทศ

ส่วนพาณิชย์จังหวัดทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนจังหวัด ทั้งสองฝ่ายจะประสานกันในการแสวงหาสินค้าในประเทศเพื่อส่งออกไปยังประเทศปลายทาง

ขณะที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) มีนโยบายเร่งรัดการเจรจาเอฟทีเอที่ค้างท่อ ตลอดจนรักษาตลาดเดิมและขยายตลาดใหม่ เพื่อขยายโอกาสส่งออกสินค้าและบริการของไทย

กำหนดแผนงานสำคัญเน้นรักษาตลาดเดิมเพิ่มตลาดใหม่ เดินหน้าเตรียมการฟื้นเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทั้งกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟต้า) สหภาพยุโรป (อียู) และเปิดเจรจาใหม่ กับสหราชอาณาจักร สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และอาเซียนแคนาดา เร่งรัดเจรจากับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา

จร.ยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เสียประโยชน์ และได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอแบบถาวร รับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในปี 2564 คือการดูแลผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะผู้ประกอบการสินค้าชุมชน โอท็อป และสินค้าเกษตร

เพิ่มช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในรูปแบบ ‘Omni Channel’ (การขายแบบ 2 ทาง) ผ่านการจำหน่ายบนห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ห้างสรรพสินค้า สนามบิน สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้าส่งค้าปลีกชุมชนทั่วประเทศ

รวมถึงสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ผ่านเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น

เดินหน้าพัฒนางานบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เช่น การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการจองชื่อนิติบุคคลการพัฒนาระบบการออกหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (e-Foreign Certificate) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ และน่าลงทุนให้มากยิ่งขึ้น

ด้านกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) มีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนผ่านแดน สนับสนุนสัดส่วนการใช้สิทธิพิเศษไปยังประเทศที่มีข้อตกลงเพิ่มขึ้น

เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสำคัญ/สินค้าเกษตรนวัตกรรม

พัฒนาและยกระดับมาตรฐานสินค้าเพื่อการส่งออกสู่สากล

กำกับดูแลและจัดระเบียบสินค้า เพิ่มช่องทางการตลาดและบริหารข้อมูลห่วงโซ่คุณค่าสินค้า (Value Chain) ทั้งในและต่างประเทศ

การส่งเสริมค้าชายแดนภายใต้งานมหกรรมการค้าชายแดนใน 4 ภูมิภาค (เชียงราย สงขลา สระแก้ว นครพนม ยะลา) จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าแบบผสมผสานออฟไลน์และออนไลน์ จับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์

การประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และการสัมมนาให้ความรู้ด้านกฎระเบียบทางการค้าและโอกาสทางการตลาดแก่ผู้ประกอบการ เป็นต้น

รวมทั้งเดินหน้าพัฒนาระบบการให้บริการให้เป็นแบบไร้กระดาษ (paperless) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เนื่องจากช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนค่าใช้จ่ายให้แก่ ผู้ประกอบการ เพิ่มความโปร่งใส รวมทั้งเป็นการยกระดับงานบริการของกรมให้ตอบสนองความต้องการต่อรูปแบบการค้าของภาคเอกชนในปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้นด้วยนวัตกรรมดิจิทัล

ช่วยเอื้อให้การค้าขายภายในอาเซียนมีความคล่องตัว และเพิ่มมูลค่าการค้าขายในอาเซียน

กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP) กำหนดแผนงานปี 2564 ตั้งเป้าปรับโฉมสู่ ‘Smart DIP’ นำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนตอบโจทย์ยุคดิจิทัล 3 โครงการคือ

1.ออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) จากเดิมที่ต้องรอหนังสือสำคัญฯ ในรูปแบบกระดาษ ใช้ระยะเวลา 45-60 วัน หากนำระบบ e-Certificate มาใช้ ประชาชนจะได้รับ e-Certificate ภายใน 15 วันนับจากวันรับจดทะเบียน

ในระยะแรกจะให้บริการ e-Certificate กับการรับจดสิทธิบัตรในช่วงเดือนม..2564 และเครื่องหมายการค้าในช่วงเดือนมี..2564

2.บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์ (Online Dispute Resolution : ODR) ซึ่งเดิมหากเกิดข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา คู่กรณีจะต้องเดินทางมาที่กรมฯ เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย

หากนำระบบ ODR มาใช้ ส่งคำร้องขอไกล่เกลี่ยไปทางอีเมล์ของคู่กรณี เพื่อนัดหมายผ่านระบบออนไลน์และเจรจาไกล่เกลี่ยผ่านระบบวิดิโอ คอล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ระบบดังกล่าวช่วยลดการเผชิญหน้าของคู่กรณีและเกิดการประนีประนอมระหว่างคู่พิพาท เปิดให้บริการได้ต้นปี 2564

3.โครงการการวิเคราะห์เทรนด์เทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จาก Big Data ฐานข้อมูลสิทธิบัตรทั่วโลก ระยะแรกจะวิเคราะห์แนวโน้มการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในไทยช่วง 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2558-2562) เพื่อให้ผู้ประกอบการ นักธุรกิจไทย นักวิจัย และประชาชนได้ทราบถึงเทรนด์ของเทคโนโลยีโลกในอนาคต

ส่วนกรมการค้าภายใน (คน.) กำหนดยุทธศาสตร์มีเป้าหมายเศรษฐกิจการค้าในประเทศมีความเข้มแข็ง เป็นธรรม ขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี

ส่งเสริมและพัฒนาสินค้า ระบบและกลไกการตลาดเพื่อสร้างโอกาสและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรสถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ

ดูแลราคา ปริมาณ และการแข่งขันในสินค้าและบริการ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นธรรม รวมทั้งจะติดตามผลกระทบปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้า

ยึดนโยบายไม่ปรับขึ้นราคาซึ่งหารือกับผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้าอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับกลุ่มร้านค้าโชห่วยทั่วประเทศ เดินหน้าโครงการลดและตรึงราคาสินค้าต่อเนื่องจากปี 2563 เช่น โครงการธงฟ้า มหกรรมลดราคาต่างๆ เป็นต้น

ขณะเดียวกันส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการตลาดและระบบโลจิสติกส์การค้า เพื่อใช้สนับสนุน การเชื่อมโยงสินค้า รวบรวม และกระจายสินค้าในประเทศและสู่ภูมิภาค

ขยายการจัดทำมาตรฐานทางการค้าของสินค้าเกษตรและส่งเสริมให้มีการซื้อขายสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน

สนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จากระบบการค้าสมัยใหม่ ส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการกระจายสินค้าและจำหน่ายสินค้าในระดับท้องถิ่น และภูมิภาค

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของแผน ที่แต่ละกรมสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ต้องลงมือปฏิบัติจริงให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองให้ทันต่อกระแสการค้าโลกท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

นับเป็นความท้าทายที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมมือ กันฝ่าฟันอุปสรรคครั้งนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน