หอการค้าแนะจับตาประชาชน-เอสเอ็มอี แห่รูดปรื๊ด โควิดทำพิษชักหน้าไม่ถึงหลัง กู้เต็มวงเงิน ห่วงรากหญ้าหนี้นอกระบบพุ่ง

จับตาประชาชนแห่รูดปรื๊ด – นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,229 ตัวอย่าง ทั่วประเทศ พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 90.7% มีหนี้สิน โดยในปี 2563 มูลค่าหนี้สินของครัวเรือนสูงขึ้น 42.3% คิดเป็นหนี้จำนวน 483,950 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งการขยายตัวสูงดังกล่าวถือว่าสูงสุดในรอบ 12 ปี ขณะที่ประชาชนมีภาระผ่อนต่อเดือน 11,799.76 บาท แบ่งผ่อนชำระหนี้ในระบบ 11,823.80 บาท นอกระบบ 2,568.60 บาท

สาเหตุที่ทำให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ขาดรายได้เนื่องจากถูกออกจากงาน และรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และพบว่าเป็นการก่อหนี้ใหม่สูงมากกว่า 70% เป็นผลมาจากการเกิดโรคโควิด-19 เศรษฐกิจไม่ดี และมีหนี้เพิ่มเยอะขึ้น

สำหรับปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาชำระหนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าจะมาจากปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี สูงถึง 72.1% รองลงมาคือ ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ 59.4% รายได้ที่รับลดลง 54.8% และการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สูงถึง 55%

อย่างไรก็ดี การก่อหนี้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่กว่า 70% จะเป็นหนี้ก้อนใหม่และรวมถึงหนี้ก้อนเก่าและก้อนใหม่ แต่ยังพบว่าหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ในระบบ มีสัดส่วนอยู่ที่ 75.3% ขณะที่หนี้นอกระบบ มีสัดส่วนอยู่ที่ 24.7%

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่า 84% ระบุว่ามีการใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน หรือมีรายได้น้อย รายได้พอกันกับรายจ่าย และพบว่ามีการก่อหนี้จากบัตรเครดิตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากเดิมที่เคยใช้สัดส่วนเพียง 20% ในปีที่แล้วเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% จึงเห็นได้ว่าประชาชนทั่วไปและเจ้าของกิจการเลือกใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่ายทั่วไป และเพื่อพยุงกิจการ ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากการที่ประชาชนหรือเจ้าของกิจการอาจมีการกู้เงินจากสถาบันการเงินเต็มวงเงินแล้ว

“ในภาพรวมก็ยังไม่น่าเป็นห่วงมากเพราะหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นยังเป็นหนี้ในระบบเป็นส่วนใหญ่ เพราะภาครัฐยังมีมาตรการต่างๆ ออกมาทำให้ประชาชนลือกใช้บริการสถาบันการเงินก่อน แต่ที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนการเป็นหนี้นอกระบบจะเกิดจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำว่าหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือนทำให้เป็นหนี้นอกระบบกว่า 90% และกลุ่มรับจ้างรายวันมีรายได้น้อย เพื่อเกิดโควิด-19 ทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรง และวงเงินชดเชยที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น”นายธนวรรธน์ กล่าว

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรเข้ามาทำการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน คือ การวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่เอกชนเสนอแนะรวมทั้งควรเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 อีกทั้งหากมีวามจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลต้องเยียวยาผู้มีอาชีพอิสระ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ และมีการก่อหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งหากยังมีการระบาดของโควิด-19 ต่อไปคาดว่าในไตรมาสแรกของปีนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประเทศอาจสูงไปแตะที่ 90.9%

ด้านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือนธ.ค. 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงจากระดับ 33.7 มาอยู่ที่ 31.8 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2563 หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องมีการยกเลิกการจัดงานปีใหม่ รวมถึงความไม่แน่นอนในเรื่องของการใช้มาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวและใช้บริการร้านอาหารรวมถึงโรงแรมต่างๆ ได้อย่างเป็นปกติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน