หอการค้าไทยหวังรัฐประหารเมียนมาไม่กระทบการค้าลงทุน ขอเวลาก่อนประเมินสถานการณ์ – ประชาชนตระหนกแห่ตุนสินค้าอุปโภคบริโภค

หวังไม่กระทบการค้า – นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมา ว่า ในส่วนของหอการค้าไทยมองว่าเป็นปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ และเร็วไปที่จะให้ความเห็นว่าการรัฐประหารจะมีผลอย่างไรบ้างต่อการค้าการลงทุนของไทยกับเมียนมา ซึ่งต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อน อย่างไรก็ตาม หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะไม่กระทำการใดๆ ที่กระทบต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาปากท้องหรือเศรษฐกิจของประเทศ เพราะหากไม่คำนึงถึงจุดนี้ก็ยิ่งจะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจให้แย่ลงกว่าเดิม

นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจ.เชียงราย กล่าวว่า หลังจากมีการรัฐประหารในประเทศเมียนมา จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะทำให้การนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้นกว่าปกติเพราะประชาชนอาจจะตื่นตะหนกกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่ก็นำเข้าจากประเทศไทย โดยด่านพรมแดนของจ.เชียงราย มีทั้งหมด 6 ด่าน สร้างรายได้รวมประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างไทยกับเมียนมา และไทยกับลาว อย่างไรก็ตาม จะติดตามสถานการณ์ภายในของเมียนมาอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่จากการประเมินเบื้องต้นไม่น่าจะมีผลต่อการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ เพราะจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากขึ้นไปอีก

ด้านนายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ ประธานหอการค้าจ.ตาก กล่าวว่า หลังจากเกิดการรัฐประหารในเมียนมาในช่วงเช้าของวันที่ 1 ก.พ. 2564 เกิดความสับสนเล็กน้อยเนื่องจากทางฝั่งของเมียนมาได้ปิดประตูด่านพรมแดนนาน 3-4 ชั่วโมง ทำให้เกิดความแออัดของการขนส่งสินค้าหน้าด่าน แต่หลังจากนั้นก็เปิดด่านตามปกติในเวลาประมาณ 10.00 น. ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการของทางฝั่งนั้น ที่อาจรอคำสั่งหรือความชัดเจนในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้มองว่าทางเมียนมาน่าจะสั่งนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้นรองรับกับความต้องการของประชาชนชาวเมียนมาเอง ที่อาจมีการกักตุนสินค้าเนื่องจากวิตกในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ซึ่งทางทหารที่ทำการรัฐประหารก็น่าจะคำนึงปากท้องของประชาชนเป็นหลัก มิเช่นนั้นจะทำให้มีศัตรูสองด้านคือ ทั้งจากรัฐบาลที่โดนรัฐประหาร และจากประชาชน เนื่องจากเป็นที่รู้กันเมียนมาเองก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นอย่างมาก

ดังนั้นการรัฐประหารครั้งนี้จึงไม่มีการปิดด่านขนส่งสินค้า เพราะการเปิดด่านเป็นประโยชน์ของเมียนมาเอง และขณะนี้เป็นช่วงที่ไทยอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาได้ในช่วงเดือนก.พ.-ส.ค.เท่านั้น หากปิดด่านพรมแดนไปก็จะทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรตกค้าง ไม่มีตลาดรองรับส่งผลเสียต่อเกษตรกรชาวเมียนมาเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ทางทหารจะเข้ามาควบคุมการค้าขายด้วยการแก้ไขกฎระเบียบในการนำเข้าส่งออกระหว่างไทยและเมียนมาใหม่ ซึ่งห่วงว่าจะเป็นปัญหาและอุปสรรคระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ด่านพรมแดนของตากสร้างรายได้ประมาณละ 8 หมื่นล้านบาท โดยมีด่านที่สร้างรายได้สำคัญคือจุดผ่านแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงกรณีที่เกิดการรัฐประหารในเมียนมา ว่า ขณะนี้ยังไม่กระทบกับการค้าการลงทุนของไทย เพราะเมียนมาเองมีการประกาศชัดในการควบคุมภาวะฉุกเฉินไป 1 ปี ซึ่ง เป็นระยะเวลาที่มีความชัดเจน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การค้าการลงทุนต่างๆชะลอออกไป แต่ในแง่ของภาพลักษณ์ที่นานาชาติมองอาจจะดูไม่ดี แต่ทั้งนี้เชื่อว่าถ้าไม่มีสถานการณ์รุนแรงก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศของเมียนมาอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามเมียนมากับไทยมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ เป็นการควบคุมสถานการณ์ภายในของเมียนมา และเชื่อว่าจะจบโดยเร็วเพราะมีการกำหนดระยะเวลาไว้อย่างชัดเจน และนักลงทุนชาติตะวันตกคงไม่ถอนการลงทุนเพราะเขาเองก็เข้าไปลงทุนในเมียนมาค่อนข้างมาก แต่ในระยะยาวก็คงต้องติดตามสถานการณ์ ส่วนการค้าค้าการลงทุนของไทยตามแนวชายแดน ในขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าจะมีการปิดด่านบ้างและอาจจะส่งผลกระทบต่อการขนส่ง โดยเฉพาะสินค้าที่เน่าเสียเร็ว ดังนั้นรัฐบาลไทยเองต้องเร่งหาทางแก้ไข และหาตลาดทดแทนโดยด่วน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน