รายงานพิเศษ : สำรวจ‘ธุรกิจค้าปลีก’เมืองไทย‘โควิด’ยังพ่นพิษ-หัวทิ่มตั้งแต่ต้นปี

สำรวจ‘ธุรกิจค้าปลีก’เมืองไทย‘โควิด’ยังพ่นพิษ-หัวทิ่มตั้งแต่ต้นปี : ในปี 2563 โควิด-19 ทำค้าปลีกไทยสูญถึงห้าแสนล้านบาทและที่มูลค่าเยอะขนาดนี้ นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่าเพราะธุรกิจค้าปลีกไทยถือเป็นฐานรากสำคัญของระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ เนื่องจากเป็นระบบที่ครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

 

สำรวจ‘ธุรกิจค้าปลีก’เมืองไทย‘โควิด’ยังพ่นพิษ-หัวทิ่มตั้งแต่ต้นปี

ญนน์ โภคทรัพย์

มีผู้ประกอบการในห่วงโซ่ค้าปลีกรวมทั้งหมดในระบบ 1.3 ล้านราย และมีการสร้างงานโดยตรงกว่า 6.2 ล้านราย เมื่อค้าปลีกถูกผลกระทบ

จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทำให้ดัชนีค้าปลีกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ปี 2563 ลดลงจาก ปี 2562 ที่ขยายตัว 2.8% มาเป็นติดลบถึง 12.0% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ติดลบถึงสองหลัก

จึงทำให้เกิดผลเสียหายในวงกว้าง เกิดอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รายได้ลดลง หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทยอยปิดตัวลง และผู้บริโภคกำลังซื้อหดหาย

ปัญหาการระบาดใหม่ของโควิด ช่วงปลายปี 2563 ยังส่งผลร้ายมายังปีนี้โดยคาดว่า ไตรมาส 1 ของปี 2564 นี้ดัชนีค้าปลีกยังคงติดลบราว 7-8%

เพราะเพียงแค่เดือนแรกของปี ความเชื่อมั่นของทั้ง ผู้ประกอบการและผู้บริโภคหดหายกว่าเดิม

จากข้อมูลผลของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบค้าปลีก (Retailer Sentiment Index : RSI) เดือนม.ค. 2564 (รอบการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 19-26 ม.ค. 2564) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการสำรวจเป็นรายเดือน พบว่า

ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือนม.ค.2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2563 และเป็นการปรับลดลงจากความอ่อนไหวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด ดัชนีความเชื่อมั่นก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเม.ย.2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก ที่ภาครัฐมีมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

เมื่อจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีกเปรียบเทียบระหว่างเดือนม.ค.และเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นทุกประเภทของร้านค้าปลีกลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบของมาตรการภาครัฐที่ประกาศปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารในเวลา 3 ทุ่ม

ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า วิตกต่อการแพร่ระบาด โควิด-19 ค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเดือนม.ค. 2564 ที่ลดลงอย่างทันที ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างชัดเจน

ในขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกประเภท ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนม.ค.ลดลงมากและรวดเร็ว

จากที่ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนธ.ค.ยังอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงอย่างมาก

แต่เมื่อเทียบดัชนีประเภทร้านค้าทั้งสามประเภท ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต วิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มากกว่าผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต

เพราะผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่จับจ่ายต่อครั้งลดลง และความถี่ในการเข้าร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตจึงลดลง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ประเภทร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม มีความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมีนัยยะชัดเจน มากกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมาก

เมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นในเดือนธ.ค. 2563 ลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจน อาจเป็นเพราะร้านอาหารมักเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดโควิด-19

และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดเวลาการให้บริการ และจำนวนการให้บริการแต่ละรอบที่ลดลงจากมาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing

อีกทั้งผู้ประกอบร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ได้รับผลกระทบปริมาณการสัญจรของลูกค้ายังอยู่ระดับที่ลดต่ำลงมาก

มองในระยะข้างหน้า 3-6 เดือน ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดว่าการฟื้นตัวจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทธุรกิจค้าปลีก ที่สำคัญหากการระบาดของโควิด-19 กินระยะเวลายาวนานขึ้น ความแตกต่างของการฟื้นตัวนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

โดยรวมมองว่าแนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค เนื่องจากมั่นใจว่าภาครัฐมีบทเรียนจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปี 2563

คาดหวังว่าคงต้องมีมาตรการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐเช่นที่ผ่านมา

ด้าน นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ นักวิชาการและ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจค้าปลีก ชี้ว่าสถานการณ์การค้าปลีกในครึ่งปีแรก 2564 น่าจะมีแนวโน้มและทิศทางเดียวกับครึ่งปีหลังของปี 2563 คือมีแนวโน้มที่ลดตํ่าลง

สำรวจ‘ธุรกิจค้าปลีก’เมืองไทย‘โควิด’ยังพ่นพิษ-หัวทิ่มตั้งแต่ต้นปี

ฉัตรชัย ดวงรัตนพันธ์

ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2564 จะมีความคล้ายคลึงกับไตรมาส 3 ของปี 2563 คือมีทิศทางที่ลดลง แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนในเฟสแรก บวกกับมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

ส่วนในไตรมาส 2 ของปี 2564 มีทิศทางคล้ายกับไตรมาสแรกปี 2563 คือเมื่อมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐค่อยๆ แผ่วลง บวกกับผลกระทบจากการปิดกิจการ การเลิกจ้าง และการจ้างงานไม่เต็มเวลาสะสมเพิ่มขึ้น

ขณะที่ครึ่งปีหลังของปี 2564 มีแนวโน้มและทิศทางคล้ายกับครึ่งปีแรก ของปี 2563 คือ ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ เป็นลําดับ

สำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกเอง นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ซีพีเอ็น’ ยังเชื่อว่า ในปี 2564 ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกน่าจะเริ่มสดใสขึ้นกว่าปี 2563

เนื่องจากสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ที่เริ่มทยอยฉีดทั่วโลก รวมถึงในไทยด้วย ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ

สำรวจ‘ธุรกิจค้าปลีก’เมืองไทย‘โควิด’ยังพ่นพิษ-หัวทิ่มตั้งแต่ต้นปี

ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา

รวมถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวที่น่าจะขยับดีขึ้นหลังจากความมั่นใจในการเดินทางกลับคืนมา โดยจะต้องแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะในประเทศ และระยะระหว่างประเทศ ถ้าหากกลับคืนมาทั้งสอง 2 ระยะได้รวดเร็วภายในปีนี้ก็น่าจะสร้างความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นอานิสงส์ต่อเนื่องมาถึงภาพรวมธุรกิจค้าปลีก ต่อไป

ขณะที่ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ มองว่าในอีก 3 เดือนภาพรวมธุรกิจจะดีขึ้นกว่าปัจจุบันเล็กน้อย เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อไม่มีความมั่นใจในมาตรการภาครัฐที่ผ่านมา

อย่างโครงการคนละครึ่ง ซึ่งร้านค้าสะดวกซื้อไม่ได้รับประโยชน์เลย ทั้งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เช่นกัน เพราะความเชื่อมั่นการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงอย่างมาก แต่ก็เชื่อว่า จะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง

ยังคงต้องจับตากับสถานการณ์โควิด-19 และความ คาดหวังเมื่อคนไทยเริ่มได้รับวัคซีนเป็นวงกว้างมากขึ้น

จะส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกพลิกฟื้นในระยะต่อไปอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน