ส่งออกม.ค. บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง วัคซีนโควิดดันความเชื่อมั่นทำให้เศรษฐกิจฟื้น ส่งผลทุกตลาดขยายตัว คาดทั้งปีโต 4%

ส่งออกม.ค. บวกต่อเนื่อง – นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยเดือนม.ค. 2564 มีมูลค่า 19,706.57 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.35% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 การนำเข้า มีมูลค่า 19,908.96 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.24% ดุลการค้าขาดดุล 202.39 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยมีปัจจัยบวกคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัส-19 เริ่มเห็นผลชัดเจน และมีการกระจายวัคซีนในวงกว้าง ส่งผลให้เกิดอุปสงค์และสร้างความเชื่อมั่นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวในเดือนม.ค. จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวจากปีก่อน 3.7% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 345.1% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง ในตลาดมาเลเซีย กัมพูชา และลาว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 50.5% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 31.7% ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐ ฮ่องกง และมาเลเซีย

สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 38.5% ขยายตัว 17 เดือนต่อเนื่อง ในตลาดฮ่องกง เมียนมา และกัมพูชา อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 19.3% ขยายตัว 17 เดือนต่อเนื่อง ในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และออสเตรเลีย ยางพารา ขยายตัว 1.5% ขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง ในหลายตลาด เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐ ตุรกี อินเดีย

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 0.9% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ถุงมือยาง ขยายตัว 200.5% ขยายตัว 14 เดือนต่อเนื่อง ในหลายตลาด อาทิ สหรัฐ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และจีน รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 25.7% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ในหลายตลาด เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐ เวียดนาม มาเลเซีย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 9.2% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่องในตลาดฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ยางรถยนต์

ส่วนตลาดส่งออกสำคัญก็ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ตลาดหลัก ขยายตัว 5.7% ตามการขยายตัวของตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ตลาดศักยภาพสูง ขยายตัว 1.4% จากการส่งออกไปจีน และกลุ่มประเทศ CLMV ตลาดศักยภาพรอง ขยายตัว 10.3% ตามการขยายตัวต่อเนื่องของส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง

ส่วนแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564 น่าจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นคาดว่าจะขยายตัว 4% หรือมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีความชัดเจน สะท้อนจาก ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่เริ่มขยายตัว สะท้อนจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่แล้ว และกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน