นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการสำรวจทัศนคติต่อมาตรการ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 92.7% คนละครึ่ง 88.2% เราเที่ยวด้วยกัน 61.3% เราชนะ 75.6% ม.33 เรารักกัน 100.00% เห็นว่าอยากให้มีโครงการเหล่านี้ต่อไป โดยส่วนใหญ่ให้คะแนนความพึงพอใจกับมาตรการเหล่านี้ เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างให้คะแนนในระดับที่สูงเฉลี่ยเกิน 6 คะแนนจากคะแนนเต็มสิบคะแนน และมาตรการที่เป็นอันดับหนึ่งในใจประชาชนคือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รองลงมาคือมาตรการคนละครึ่ง อันดับสาม คือเราชนะ อันดับสี่เที่ยวด้วยกัน และสุดท้ายมาตรการเรารักกัน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ายังมีปัญหาในด้านต่างๆ เช่น เครื่องรูดบัตรสวัสดิการเสีย ระบบไม่เสถียรมีปัญหาบ่อยเกินไป ทำให้ต้องรอนาน 40.5% ร้านค้าอยู่ไกลเกินไป ร้านที่เข้าร่วมโครงการมีน้อย 26.4% ราคาสินค้าแพงขึ้น 10.8% วงเงินน้อยไป 6.1% ส่วนมาตรการคนละครึ่งระบุว่า แอพล่ม ระบบล่าช้า รอนานเกินไป 45.4% จำนวนเงินน้อยเกินไป 16.8% สินค้ามีราคาแพงมากขึ้น และมีสินค้าเข้ารวมโครงการน้อยเกินไป 12.0%

ส่วนมาตรการเราเที่ยวด้วยกันกลุ่มตัวอย่างระบุว่ามีปัญหาคือ ต้องมีการจองล่วงหน้าก่อนเดินทาง ขั้นตอนที่ยุ่งยากในการใช้งาน 48.3% เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เลยไม่ได้เดินทาง 25.7% การเก็บเงินเพิ่มของที่พัก 10.4% ส่วนมาตการเราชนะ กลุ่มตัวอย่างระบุว่าอยากได้เงินสดมากกว่า ใช้จ่ายอย่างอื่นไม่ได้ 44.2% เงื่อนไขและกำหนดการเยอะเกินไป 29.5% ร้านค้าอยู่ไกล และตั้งราคาสินค้าแพง และสินค้าน้อย 13.8% และมาตรการ เรารักกัน ระบุว่า เงื่อนไขการแบ่งแยกกลุ่ม และการกำหนดวันในการเข้าถึงสิทธิ์เยอะเกินไป 32.2% งานประจำก็มีค่าใช้จ่ายและได้รับผลกระทบเหมือนกัน 23.7% ระบบการลงทะเบียนมีปัญหาบ่อย 16.9% เป็นต้น

รวมทั้งระบุว่าในไตรมาส 1 เศรษฐกิจจะยังติดลบที่ 1-2% และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นในไตรมาสที่ 2 และขยายตัวได้ประมาณ 4-4.5% จากเม็ดเงินที่ลงไป 2.5 แสนล้านบาท โดยประมาณ และทุกอย่างจะจบในเดือนพ.ค. โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีการใช้เงินเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ทำให้โดยเฉลี่ยครึ่งแรกเศรษฐกิจไทยจะโต 1.5% ส่วนครึ่งปีหลังจะขยายตัว ประมาณ 4.5% และทั้งปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 2.8-3% เพราะจากสถานการณ์ของการฉีดวัคซีนการระบาดลดน้อยลงทั่วโลก การล็อกดาวน์น้อยลง มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทย ในลักษณะทราเวล บับเบิ้ล ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ในปีนี้ 3-3.5% รวมทั้งปัญหาตู้คอนเทนเนอร์คลี่คลายทำให้การส่งออกคล่องตัวได้มากขึ้นและฟื้นในไตรมาสที่ 2 ค่าเงินบาทน่าจะแกว่งตัวที่ 28-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน