รัฐ-เอกชนจับมือดัน‘รถยนต์ไฟฟ้า’
หวังไทยผงาดศูนย์การผลิตอาเซียน

รายงานเศรษฐกิจ

รัฐ-เอกชนจับมือดัน‘รถยนต์ไฟฟ้า’ – จากรายได้ประชากรต่อหัวของไทยเฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 8,000 เหรียญสหรัฐต่อปี เทียบกับคู่แข่งไทยอย่างประเทศอินโดนีเซียมีรายได้ต่อหัว 3,800 เหรียญสหรัฐต่อปี ประเทศเวียดนามมีรายได้ต่อหัว 2,300 เหรียญสหรัฐต่อปี แม้ทั้งสองประเทศจะมีประชากรมากกว่าไทย แต่ตลาดของไทยมีกำลังซื้อมากกว่า

จึงนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยอดขายรถพลังงานไฟฟ้า 100% หรือ ‘อีวี’ ในไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดด

เห็นได้จากยอดขายรถอีวีขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่งในไทยเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,079 คัน เพิ่มขึ้น 159% เทียบกับปี 2562 มียอดขายอยู่ที่ 802 คัน และปี 2561 มียอดขายเพียง 600 คัน

รัฐ-เอกชนจับมือดัน‘รถยนต์ไฟฟ้า’

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ว่าปี 2564 รถอีวีจะมียอดขายในประเทศถึง 7,000 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 200% หรือประมาณ 1% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 7.5 แสนคัน

เนื่องจากปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกลง ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ถึง 1 ล้านบาทต้นๆ เท่านั้น จากที่ผ่านมารถอีวีราคาสูงถึงคันละ 3-5 ล้านบาท อาทิ ค่ายเอ็มจี, นิสสัน และค่ายเกรท วอลล์ เป็นต้น

ประกอบกับการสนับสนุนให้มีสถานีชาร์จไฟฟ้าอย่างจริงจังของภาครัฐ ทำให้จำนวนสถานีมีการกระจายตัวมากขึ้น

“แม้เศรษฐกิจจะถดถอยแต่ผู้บริโภคที่มีฐานะดียังมีกำลังซื้อสูง และต้องการทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ จึงซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถคันที่ 3 หรือ 4 ของบ้าน ทำให้ยอดซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากลับเพิ่มสูงขึ้น คาดว่ายอดขายรถอีวีปี 2565 จะเกินหมื่นคันแน่นอน”

และในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีแบตเตอรี่ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รถอีวีมีราคาลดลงเรื่อยๆ จนสามารถทำราคาขายได้ไม่เกิน 8 แสนบาทต่อคัน เป็นราคาใกล้เคียงกับรถที่ใช้น้ำมัน

เชื่อว่าจะทำให้ตลาดรถอีวีจะยิ่งโตแบบก้าวกระโดดจนทำให้เกิดความต้องการใช้อย่างแพร่หลายในที่สุด

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยอดขายรถอีวีในต่างประเทศขยายตัวในระดับสูง อย่างในยุโรปและประเทศญี่ปุ่นประกาศนโยบายปี 2579 รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจะหมดไป

ส่วนประเทศจีนประกาศเลิกใช้ปี 2578 ทำให้คาดว่าการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือบีอีวี ที่บริษัทรถยนต์ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ลงทุนผลิตรถบีอีวี ซึ่งสิ้นสุดการยื่นคำขอไปเมื่อปี 2562 จะเร่งลงทุนตั้งโรงงานภายในปี 2564 นี้เร็วขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ในปี 2565 เพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่ไทยประกาศปี 2573 จะมีรถอีวีสัดส่วนประมาณ 30% อาจเป็นเป้าหมายที่ต้องทบทวนใหม่ อีกทั้งอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับสถานีชาร์จ (ขายส่ง) ที่ 2.63 บาทต่อหน่วย จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้ามากขึ้น

ขณะเดียวกันไทยยังมีจุดแข็งด้านแรงงานที่มีทักษะในการผลิต เพราะไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์มายาวนาน แต่ต้องเพิ่มทักษะการผลิตรถอีวีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้ไทยมีศักยภาพรองรับการลงทุนสูงสุดของอาเซียน

นายสุรพงษ์ระบุว่า อยากให้บีโอไอพิจารณาเปิดมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถบีอีวีอีกครั้ง เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนมากขึ้น เพราะเชื่อว่ายังมีบริษัทรถยนต์อีกหลายรายที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม รวมทั้งรัฐบาลต้องเร่งขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ควบคู่กับให้ความรู้กับประชาชนเรื่องของความปลอดภัย ความประหยัดพลังงานของรถอีวี เช่น การติดตั้งจุดชาร์จไว้ภายในบ้านที่อยู่อาศัย สายไฟฟ้ารองรับได้หรือไม่ ควรประสานการทำงานร่วมกับไฟฟ้าให้เข้ามาตรวจสอบ

ที่สำคัญยังช่วยแก้ปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (พีเอ็ม 2.5) ที่ต้นเหตุด้วย

รัฐ-เอกชนจับมือดัน‘รถยนต์ไฟฟ้า’

นายกุลิศ สมบัติศิริ

ล่าสุด นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ดกฟผ.) ระบุว่า ปลายเดือนมี.ค.นี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน กำหนดการประชุมเพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมรถอีวีที่ชัดเจนมากขึ้น

“จากเป้าหมายเดิมบอร์ดอีวีกำหนดปี 2573 ไทยจะมีการผลิตรถอีวี 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด คิดเป็นประมาณ 750,000 คัน ซึ่งการประชุมบอร์ดอีวีครั้งนี้จะพิจารณาว่าควรจะปรับหรือไม่/อย่างไร เพราะยอมรับว่ากรณีที่เอกชนเสนอเป้าหมายผลิตรถอีวี 50% อาจมีความเป็นไปได้ หลังความต้องการรถอีวีเริ่มมาเร็วขึ้น”

นายกุลิศคาดการณ์ว่าปี 2568 ราคารถอีวีจะเท่ากับราคารถยนต์สันดาป และในปี 2583 จำนวนรถอีวีจะมีมากกว่ารถยนต์สันดาป ผลักดันไทยก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Carbon neutrality)

รัฐ-เอกชนจับมือดัน‘รถยนต์ไฟฟ้า’

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร

ด้าน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่ากฟผ. ประกาศเปิดตัวธุรกิจใหม่ “EGAT EV Business Solutions” 4 ผลิตภัณฑ์และบริการ ได้แก่

สถานีอัดประจุไฟฟ้า “EleX by EGAT” ที่ชาร์จไฟได้รวดเร็วดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว 13 สถานี ตั้งเป้าหมายติดตั้งเพิ่มเป็น 48 สถานี ภายในสิ้นปี 2564 เน้นขยายสถานีไปตามเส้นทางการเดินทางหลักทั่วประเทศ

การให้บริการ Mobile Application Platform “EleXA” ช่วยผู้ใช้รถอีวีตั้งแต่ การค้นหา จอง ชาร์จ และจ่ายเงิน ซึ่งกฟผ.พัฒนาให้เชื่อมโยงทั้งลูกค้า ร้านค้า ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการต่างๆ ที่อยู่ใกล้สถานีของ กฟผ. คาดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ทันทีในไตรมาส 2/2564

เมื่อเร็วๆ นี้ กฟผ.ลงนามความร่วมมือ EV Charging Station & Platform co creation for Electric Vehicles Project ร่วมกับพันธมิตร 6 บริษัทรถยนต์ ชั้นนำ ได้แก่ Audi, BMW, Mercedes-Benz, MG, Nissan และ Porsche

เพื่อร่วมมือกันด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้าแอพพลิเคชั่นเชื่อมโยงข้อมูล และการส่งเสริมการขาย

นอกจากนี้มีตู้อัดประจุไฟฟ้า “EGAT Wallbox และ EGAT DC Quick Charger” รองรับผู้ใช้งานรถอีวี โดย กฟผ.ได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายเพียงรายเดียวในไทย ขนาด 120 kW ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ คาดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3/2564

ระบบบริหารจัดการเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า “BackEN หรือ Backend EGAT Network Operator Platform” ที่จะเชื่อมโยงระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดเข้าด้วยกัน พร้อมให้บริการประชาชนทุกคนภายในปีนี้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมกับเอกชนกำหนดอัตราค่าบริการชาร์จไฟรถอีวีเบื้องต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 7 บาทต่อหน่วย หรือคิดเป็น 1.30 บาทต่อกิโลเมตร (ก.ม.) ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดจัดโปรโมชั่นให้ราคาค่าบริการชาร์จไฟไม่เกิน 1 บาทต่อก.ม. ช่วงเดือนเม.ย.นี้

รัฐ-เอกชนจับมือดัน‘รถยนต์ไฟฟ้า’

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ขณะที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ระบุว่าการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์อย่างเต็มรูปแบบในไทยของบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์สัญชาติจีน ที่นิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง เมื่อปี 2562 ช่วยให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้กับคนไทยกว่า 8,000 คน

ช่วยพัฒนาทักษะและเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ให้กับคนไทย ให้สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้

และหากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ของไทย ซึ่งเป็นสนามทดสอบแห่งแรกในอาเซียนก่อสร้างแล้วเสร็จ จะยิ่งดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนได้อีกมาก

คาดว่าภายใน 5 ปี อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะรถอีวีจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท

ผลักดันเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน

มาถึงจุดนี้เรียกว่าตลาดรถอีวีน่าจะมีความพร้อมทั้งกำลังเงินของคนซื้อ การลงทุนของผู้ขาย และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

เป็นที่จับตามองว่าปี 2564 นี้ บรรดาค่ายรถจะลงสู้ศึกในสมรภูมิรถอีวีกันดุเดือด นับเป็นปีทองของรถอีวีก็ว่าได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน