กนง. กุมขมับเศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าเพื่อนจากปัจจัยท่องเที่ยวยังทรุด คงดอกเบี้ย 0.50% ปรับลดจีดีพีเหลือ 3% ย้ำยังไม่เข้มแข็ง

กนง. กุมขมับศก.ไทยโตช้า – นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2564 เหลือ 3% จากเดิมที่ 3.2% และในปี 2565 ปรับประมาณการเหลือ 4.7% จาเดิมที่ 4.8% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5.5 ล้านคน เหลือ 3 ล้านคน

“การบอกว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% เป็นการฟื้นตัวแล้วคงไม่ใช่ การฟื้นตัวยังไม่เข้มแข็ง ยังจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนทั้งจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ซึ่งประเทศอื่นๆ ฟื้นตัวได้ดีกว่าไทย ไทยยังช้าเพราะผลจากภาคบริการและภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผล กระทบ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี ครึ่ง หรือกลับมาฟื้นตัวได้เหมือนก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ช่วงกลางปี 2565”

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า การลดลงของจีดีพี สาเหตุหลักมาจากนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามาช้าลง ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดรอบ 2 นอกจากนี้ ยังกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2564 จะขยายตัวได้ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2563 แต่อย่างไรก็ดี จากมาตรการภาครัฐ ทั้ง คนละครึ่ง ม33 เรารักรัก และเราชนะ เป็นแรงกระตุ้นพอสมควร และทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2564 กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว แต่ก็เป็นผลกระตุ้นในระยะสั้น

นอกจากนี้ กนง. ยังปรับประมาณการส่งออกไทยในปี 2564 โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 10.0% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 5.7% เป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2563 และที่ผ่านมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐ ส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐและประเทศคู่ค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของไทยในทุกกลุ่มสินค้า

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากนักท่องเที่ยวลดลงและการระบาดรอบใหม่ แต่ได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกและมาตรการที่ออกมาเพิ่มเติม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากการกระจายวัคซีน และการกลับมาของนักท่องเที่ยว ส่วนระบบการเงินยังมีความเปราะบางจากการระบาดรอบใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอี สภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูงแต่กระจายตัวไม่ทั่วถึง อัตราแลกเปลี่ยนได้รับแรงกดดันจากดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง โดยคาดว่าเกินดุลอยู่ที่ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากคาดเดิมที่ 11.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะเงินทุนผันผวน

อย่างไรก็ดี กนง. เห็นว่า ความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญในระยะต่อไป มาตรการด้านการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่าย มาตรการเยียวยาในระยะสั้นยังคงมีความจำเป็น แต่การจะให้เศรษฐกิจมีความเข้มแข็ง ต้องดูเรื่องการปรับโครงสร้างและภาคการผลิต นโยบายรัฐต้องปรับเปลี่ยนให้เพียงพอในการสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวยั่งยืนเพิ่มขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน