สรท.ดักคอสายการเดินเรือปรับขึ้นค่าระวาง ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ หารือกรมการค้าภายในสกัด

สรท.ดักคอสายการเดินเรือ – น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงผลกระทบจากกรณีการที่เรือเอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) ติดขวางคลองสุเอซมาตั้งแต่ 23 มี.ค.ว่า สรท. ได้ติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ซึ่งล่าสุดพบว่าเรือถูกลากออกมาลอยลำได้แล้ว แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะต้องติดตามว่าเรือที่ลอยลำรอผ่านเข้าคลองกว่า 300 ลำ จะลอยลำผ่านเข้าคลองไปได้หรือไม่ เพราะในบรรดาเรือที่ลอยลำรอนั้นยังมีเรือที่มีขนาดเท่าๆ กับเรือเอเวอร์ กิฟเวน ซึ่งยากที่จะผ่านเส้นทางนี้มาได้ แต่การที่เรือเอเวอร์ กิฟเวน เริ่มลอยลำได้ก็ถือว่าเป็นข่าวดี และไม่น่าจะถึงขั้นต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือไปยังแหลมกู้ด โฮป ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งหากต้องเปลี่ยนเส้นทางจะทำให้เสียเวลามากขึ้น 14 วันจากเส้นทางปกติ ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการหวังว่าจะสามารถใช้เส้นทางคลองสุเอซได้ภายใน 1-2 วันนี้

น.ส.กัณญภัค กล่าวอีกว่า การที่เรือเอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) ติดขวางคลองสุเอซครั้งนี้ อาจทำให้ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ของไทยหนักมากขึ้นเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการของไทยเพราะที่ผ่านมาปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ก็กระทบต่อผู้ส่งออกมาพอสมควรแล้ว และการหมุนเวียนของเรือล่าช้าเพราะติดปัญหาที่คลองสุเอซ และอาจทำให้เป็นข้ออ้างในการขอเพิ่มค่าระวาง ค่าธรรมเนียมค่าบริการในประเทศ (Local Charge) โดยไม่เป็นธรรมจากบริษัทสายเดินเรือ ดังนั้นตนจึงหารือกับนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เพื่อขอใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และหากสายการเดินเรือจะประกาศค่าบริการเพิ่มเติม โดยก่อนการปรับขึ้นทุกครั้ง กำหนดหลักเกณฑ์ ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของราคา และสามารถเรียกให้ผู้ให้บริการแสดงข้อมูล ในกรณีที่มีการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ ในก่อนหน้านี้สรท. หารือกับกรมการค้าภายในมาแล้วเกี่ยวกับปัญหาการปรับเพิ่มค่าระวางค่าธรรมเนียมค่าบริการในประเทศของสายการเดินเรือ ซึ่งนอกจากจะขอใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แล้วยังขอให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าใช้อำนาจตาม มาตรา 52 และ 54 ของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือ มาตรา 55 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นกระทําการใดๆ อันเป็น การผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในตลาดใดตลาดหนึ่งในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน