ผู้บริหารส.อ.ท. หวั่นแผนบริหารวัคซีนโควิดล่าช้า-ไม่เพียงพอ กระทบเศรษฐกิจมาก จี้เร่งจัดซื้อ-อนุญาตนำเข้าให้เพียงพอ

ส.อ.ท.หวั่นวัคซีนล่าช้า – นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 4 ในเดือนมี.ค. 2564 เกี่ยวกับ “ความเห็นต่อการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 และการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว” พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ 79.6% ยังมีความกังวลต่อการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่ยังมีความล่าช้าและมีจำนวนไม่เพียงพอ และมองว่าหากภาครัฐมีการฉีดวัคซีนล่าช้าจะส่งผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

“ผู้บริหารส.อ.ท. มองว่าหากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนเกิดความล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระดับ “มาก” คิดเป็น 76.4% รองลงมาระดับปานกลาง 22% และระดับน้อยอยู่ที่ 1.6%”

รองลงมาเป็นเรื่องการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 50.8% และการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน 45.5% ซึ่งจากความกังวลในเรื่องวัคซีน ดังนั้น ผู้บริหารส.อ.ท. จึงมีความเห็นว่าควรเร่งรัดการจัดซื้อและอนุญาตนำเข้าวัคซีนให้เพียงพอ รวมทั้งเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาให้บริการแก่ประชาชนได้

นายวิรัตน์ กล่าวว่า ภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริมให้เอกชนสั่งซื้อวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับอย. มาฉีดให้แก่แรงงาน เช่น การนำค่าวัคซีนไปหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า, การสนับสนุนค่าใช้จ่าย 50% ให้แก่สถานประกอบการ และการสนับสนุนทีมแพทย์ในการฉีดวัคซีนที่สถานประกอบการ เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ 3 เรื่องเป็นอันดับแรกๆ คือ 77% เห็นว่ารัฐควรเร่งรัดการจัดซื้อวัคซีนและอนุญาตนำเข้าวัคซีนมาใช้ในประเทศให้เพียงพอ รองลงมา 68.6% ควรร่วมมือกับภาคเอกชนในการบริหารและกระจายการฉีดวัคซีน และ 57.6% ควรมีความชัดเจนของกลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาการฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ การสำรวจยังเจาะลึกถึงเรื่องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งพบว่าปัจจัยที่จะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งปีแรก 3 อันดับแรก คือ 78% ให้ความสำคัญกับจำนวนวัคซีนที่เพียงพอและความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศไม่น้อยกว่า 50%

รองลงมา 72.8% เป็นเรื่องกฎระเบียบในการเดินทางเข้าออกประเทศ อาทิ การนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้สำหรับการเดินทางเข้าออกประเทศ รวมทั้งมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าอุตสาหกรรมที่ควรได้รับการเร่งช่วยเหลือและส่งเสริมโดยด่วน 3 อันดับแรก คือ 58.6% อุตสาหกรรมการบิน รองลงมา 55% เป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และ 49.7% อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน