‘รัฐ-เอกชน’ปรับแผนชุลมุน รับมือ‘โควิดคลัสเตอร์ใหม่’ลามหนัก
: รายงานพิเศษเศรษฐกิจ

 

‘รัฐ-เอกชน’ปรับแผนชุลมุน รับมือ‘โควิดคลัสเตอร์ใหม่’ลามหนัก : รายงานพิเศษเศรษฐกิจ – หัวทิ่มซ้ำอีกรอบเศรษฐกิจไทยที่กำลังเริ่มโงหัวขึ้นจากสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลาย แต่ทันทีที่กลับมาระบาดใหม่รอบสาม โดยเฉพาะต้นทางหลักจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ซึ่งเป็นสถานที่พบปะยอดนิยมของกลุ่มวีไอพี และนักการเมือง

ถึงขนาดแซวว่าสถานบันเทิงดังกล่าวมีชื่อเล่นว่า ‘ตึกไทยคู่ฟ้า2’

โดยเฉพาะการมาระบาดหนักก่อนเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลและการท่องเที่ยวตีปี๊บให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยว เพื่อสร้างกระแสเงินให้สะพัดมากขึ้น

ทว่าเมื่อโควิดระลอกใหม่โผล่ขึ้นมา สร้างความปั่นป่วนให้ระบบเศรษฐกิจอย่างหนักอีกครั้ง

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนัก งานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แต่เดิมกระทรวงการคลังเตรียมปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564 ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ถึง 3% จากเดิมที่เคย คาดไว้ที่ 2.8%

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีแรงส่งจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ อาทิ การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น

‘รัฐ-เอกชน’ปรับแผนชุลมุน รับมือ‘โควิดคลัสเตอร์ใหม่’ลามหนัก

“อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของโควิด-19 จากคลัสเตอร์ใหม่ ที่มีการพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก รวมถึงประกาศพื้นที่สีแดง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะหยุดชะงัก ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้การปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยรอบใหม่”

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวและว่ามีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือคงการขยายตัวไว้ที่ 2.8% เหมือนเดิม หรือปรับเพิ่มขึ้น โดยที่ยังไม่รวมปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ แต่เบื้องต้น สศค. ยังไม่ได้มองว่าสถานการณ์ระบาดดังกล่าวจะส่งผล กระทบรุนแรงจนถึงขึ้นปรับลดจีดีพีให้ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

การระบาดของโควิด-19 จากคลัสเตอร์ใหม่ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ ทำให้จากเดิมที่ สศค. คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะขยายตัวได้ดี ก็อาจต้องขอประเมินก่อนว่าจะกระทบมากน้อยแค่ไหน

กระทรวงการคลังยืนยันว่าจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์ใหม่กระทบกับปากท้องของประชาชนก็จะเร่งนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยในส่วนของมาตรการคนละครึ่ง เฟส 3 นั้น ยืนยันว่าขณะนี้มีความพร้อม แต่ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล

ด้าน นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบัน วิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าการเกิดการระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์ใหม่ เกิดความน่ากังวลใน 2 ประการ

ประการแรก คือการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วตามระดับ การระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก เชื้อกลายพันธุ์บางชนิดมีอัตราการระบาดสูงมากเช่นสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนบางสายพันธุ์เช่นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ก็ดื้อวัคซีน

อีกประการคือแนวนโยบายการเปิดประเทศ ที่ระยะหลังพูดมากขึ้นถึงกำหนดการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยลดจำนวนการกักตัวลง หรืออาจไม่กักตัวเลยในบางพื้นที่ (ภูเก็ต สมุย) ซึ่งแม้จะมีเงื่อนไขเรื่องการฉีดวัคซีน และจำกัดประเทศต้นทางที่อาจเป็นแหล่งกลายพันธุ์แล้วก็ตาม

“ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าผลต่อการระบาดในประเทศไทยหลังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะเป็นอย่างไรแน่ ดังนั้นรัฐบาลควรทบทวนแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยว หวังว่ารัฐบาลจะสามารถหาสมดุลระหว่างการเปิดรับ นักท่องเที่ยวและการควบคุมการระบาดอย่างเหมาะสมในอนาคต 3-6 เดือนข้างหน้าได้”

นายสมชัย กล่าวและว่า ทีดีอาร์ไอเสนอแนวทางดังต่อไปนี้คือ ประการแรก เร่งประชาสัมพันธ์ให้คนไทยช่วยกันป้องกันการระบาดมากกว่าที่เคยทำมา เรื่องเดิมๆ ที่เคยทำมาเช่น ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างอย่างแท้จริง ใช้ช้อนกลาง ไม่ไปในสถานที่ปิดที่มีความเสี่ยงสูง

ประการที่สอง รัฐบาลควรยกระดับศักยภาพและวางแผนเรื่องการตรวจเชื้อ การติดตามเคส และการกักตัวผู้ป่วย เป็นต้น

ส่วน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุดนี้ สร้างความกังวลให้ กับภาคเอกชนมากกว่าระลอกที่แล้ว

เนื่องจากเป็นการติดเชื้อใน กลุ่มผู้บริหารระดับสูง กลุ่มที่ต้องพบปะกับผู้คนมากมาย ส่งผลให้เชื้อกระจายไปอย่างรวดเร็วและควบคุมได้ยาก ต่างจากช่วงเดือนธ.ค.2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ซึ่งสามารถ จำกัดบริเวณและตรวจสอบเชิงรุกหาเชื้อพร้อมระงับการ กระจายได้

“ยอมรับว่าการระบาดระลอกนี้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เพราะห่วงว่าเศรษฐกิจจะซึมยาว จากเดิมที่คาดว่าจะฟื้นช่วงไตรมาส 3/2564 หลังเริ่มฉีดวัคซีนและเดินหน้าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่มาถึงตอนนี้คาดว่าจะต้องใช้เวลาประเมินสถานการณ์ใหม่อีก 1-2 สัปดาห์”

อย่างไรก็ตามแม้ประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนไปบ้างแล้วบางส่วน แต่ยังมีความกังวลเรื่องปริมาณวัคซีนที่เข้ามาน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนยังไม่ชัดเจนเช่นเดิม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่าหารือกับกรุงเทพมหานคร ถึงมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นมาในช่วงสงกรานต์นี้ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประมาณ 5 พันล้านบาท หากต้องล็อกดาวน์

โดยกรุงเทพมหานคร และหอการค้าไทยวางแผน และเล็งเห็นความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ควบคู่ ไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยจะควบคุมการเปิดปิดเป็นรายประเภทธุรกิจและพื้นที่เท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้จำกัด

‘รัฐ-เอกชน’ปรับแผนชุลมุน รับมือ‘โควิดคลัสเตอร์ใหม่’ลามหนัก

ปิดท้ายที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าจากปัญหาที่เกิดขึ้นเชื่อว่ากระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น หอการค้า ไทยยังไม่ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจยังคงตัวเลขทั้งปีอยู่ที่ 2.8% หรืออยู่ในกรอบ 2.5-3%

“หากล็อกดาวน์อาจประเมินเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง ส่วนความเสียหายทางเศรษฐกิจสำหรับพื้นที่สีแดง 5 จังหวัด มองว่าการใช้จ่าย การบริโภค เงินสะพัดจะหายไปประมาณ 3-5 พันล้านบาท ใน 7 วัน ช่วงสงกรานต์”

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ผู้บริโภคเดือนมี.ค. 2564 ก่อนการแพร่ระบาดรอบใหม่ พบว่าอยู่ที่ระดับ 48.5 ปรับตัวลดลง แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่ ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

ส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงาน ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ การประกาศให้งดกิจกรรมสาดน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟมทุกพื้นที่ในช่วงสงกรานต์ ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล

ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จากโครงการช่วยเหลือต่างๆ มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี เป็นต้น

โดยภาพรวมแล้วเห็นได้ว่าการระบาดรอบใหม่ ดูจะน่ากลัวกว่ารอบสอง ซึ่งคนไทยเริ่มคุ้นชินกันแล้ว

ต้องดูกันต่อไปว่าภาครัฐจะมีมาตรการอะไรเพื่อมารับมือและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน