จากสถานการณ์โควิดระบาด แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย สธ. ได้เสนอการยกระดับ พื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด หลังจากพบว่า มีกิจการ กิจกรรม ที่เสี่ยงเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อ โดยยึดตามสถิติการระบาด แต่ไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว ใช้วิธีควบคุมกิจกรรมต่างๆ แทน โดยจะใช้มาตรการดังกล่าวเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนพิจารณาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. หรือ เที่ยงคืนของวันเสาร์นี้ พร้อมย้ำว่า ไม่มีเคอร์ฟิว สามารถเดินทางได้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงมาตรการศบค.ล่าสุดว่า เชื่อว่า สาเหตุที่ผลการประชุมของ ศบค. ไม่ประกาศล็อคดาวน์พื้นที่ แต่เลือกใช้วิธีคุมกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากเห็นว่า เศรษฐกิจบอบช้ำมากพอแล้ว จึงเลือกใช้วิธีสมดุลระหว่างการดูแลเศรษฐกิจ และการป้องกันดูแลรักษาโรคควบคู่กันไป หากประเมินในมุมสถิติ ผลกระทบจากมาตรการของศบค.ที่ออกมา จะกระทบกับมูลค่าการใช้จ่ายผู้บริโภคในระยะเวลา 3 เดือน หรือเม.ย. – มิ.ย. ประมาณ 3 -4.5 แสนล้านบาท หรือเดือนละ 1 – 1.5 แสนล้านบาท ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีย่อตัวลงประมาณ 2%

“ จากการประเมินสถานการณ์การระบาดแต่ละครั้ง จะใช้เวลาประมาณ 45-60 วันจะคลี่คลายลง ครั้งนี้ประเมินว่า จะกระทบการใช้จ่ายเศรษฐกิจเม็ดเงินจะหายไป 3 เดือน คิดเป็นมูลค่าวันละ 4 – 6 พันล้านบาท 3 เดือน คิดเป็น 3 -4.5 แสนล้านบาท แต่ไตรมาส 2 (เม.ย. – มิ.ย.) คาดว่า จะมีเม็ดเงินจากโครงการรัฐบาลมาเพิ่ม เช่น คนละครึ่ง เฟส 3 หรืออาจเป็นชอปดีมีคืน อีก 2.5 แสนล้านบาท รวมทั้งจะมีรายได้จากส่งออก และภาคท่องเที่ยวที่ค่อยๆ ฟื้น จึงคาดว่า ทั้งปีจีดีพีจะโตในกรอบใกล้เคียงเดิม 2-3 % และอยากให้รัฐบาลวางกรอบการกู้เงินในไตรมาส 3 (ก.ค. – ก.ย.) ไว้อีก 5 แสน – 1 ล้านล้านบาท เผื่อไว้ฉุกเฉิน หากจำเป็นต้องใช้มาฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน