เอกชนอ่วมโควิดรอบ 3 ฉุดเศรษฐกิจสูญ 3 แสนล้านบาท แนะรัฐอัดเม็ดเงินปลายไตรมาส 2 กระตุ้นจับจ่าย มั่นใจจีดีพีทั้งปียังได้ 2.5-3%

เอกชนอ่วมโควิดฉุดเศรษฐกิจ – นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้หอการค้ายังไม่ปรับประมาณการตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพราะขึ้นอยู่กับว่าต่อจากนี้รัฐบาลจะใช้วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเหลือจากพ.ร.ก.เงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาท ในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง และมองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องเปิดเพดานวงเงินกู้ใหม่ หรือขยายเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งจากการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ 2-3 แสนล้านบาท เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อ 4 วัน เริ่มนิ่งเฉลี่ยวันละ 1,400 คน และก็น่าจะคุมอยู่ได้ใน 60 วัน และหากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ออกมาแล้วปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวเพียง 1.2-1.6%

แต่เนื่องจากรัฐบาลมีแผนจะใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรฐกิจ 2-3 แสนล้านบาทอยู่แล้ว เช่น คนละครึ่งเฟส 3 ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพราะจะคูณสองกับเอกชนทำให้มีเงินลงในระบบเศรษฐกิจ 1 แสนล้านบาทและหากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายช่วงกลางเดือนพ.ค. มาตรการดังกล่าวก็ควรอัดเข้าไปในช่วงปลายพ.ค. เพื่อให้มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปลายไตรมาส 2 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีสัญญาณของการฟื้นตัวเพราะตอนนี้เศรษฐกิจซึ่งเป็นช่วงของไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการย่อตัวลงถึง 4-6% เพราะเดิมคาดว่าเศรษฐกิจจะโต 9% เพราะปีก่อนติดลบ 12% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หากเม็ดเงินหายไปจากระบบ 2 แสนล้านบาท เศรษฐกิจจะโต 5% หากหายไป 3 แสนล้านบาทเศรษฐกิจจะโต 3%

ดังนั้นการอัดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจควรอัดลงไปในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ปลายเดือนพ.ค. หรือต้นเดือนมิ.ย. เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 และ 4 หากรัฐบาลเริ่มต้นมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 ได้พร้อมกับมาตรการอื่นๆ ได้ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเราชนะ ทำให้เงินอัดลงไปได้ 2-3 แสนล้านบาท การส่งออกปรับตัวดีขึ้นโดยมองว่าปีนี้การส่งออกทั้งปีน่าจะทำได้ที่ 5% แต่ต้องดูแลค่าเงินบาทให้ทรงตัวอ่อนต่อไป ในระดับ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะช่วยเป็นแรงหนุนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชดเชยการท่องเที่ยวและการบริโภคที่หายไป

นอกจากการใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการของรัฐแล้ว หอการค้าก็สนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพราะเป็นการส่งสัญญาณของการเปิดประเทศ เพราะภูเก็ตเป็นจังหวัดสำคัญด้านการท่องเที่ยว การที่คนภูเก็ตได้รับวัคซีนครอบคลุมเกินกว่า 50% ของประชากรในเดือนมิ.ย. ทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในการเดินทางมาท่องเที่ยว น่าจะเป็นสัญญาณที่เป็นบวกด้านการท่องเที่ยวของไทย และหากภาครัฐดูแลภาคการท่องเที่ยวของไทยฝั่งอันดามัน และสมุย จะทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาในปีนี้อยู่ในกรอบ 4-6 ล้านคนได้ในช่วงไตรมาสที่ 4

นอกจากนั้นก็สนับสนุนให้มีการใช้เงินขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก่อสร้างโครงการพื้นฐาน ออกมาตรการจูงใจต่างๆ ให้มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะท่องเที่ยวระหว่างสัปดาห์โดยหน่วยงานราชการต่างๆ ให้จัดประชุมสัมมนาช่วงกลางสัปดาห์เพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว และย้ำว่าภาครัฐต้องยับยั้งการระบาดของโรคให้เร็วที่สุด และเร่งการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเปิดโอกาสให้เอกชนได้มีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนและการฉีดวัคซีนและหากคนไทยสามารถฉีดวัคซีนได้เกิน 50% เร็วที่สุดอย่างน้อยในไตรมาส 2 และ 3 ที่น่าจะฉีดได้มากขึ้น จะผลักดันให้เกิดความเชื่อมั่นในกลุ่มคนไทยด้วยกันในการออกมาจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว การลงทุนต่างๆ และนักท่องเที่ยวก็จะเข้ามาไทย หากทำได้จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ 2.5-3%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน