นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งมีความรุนแรง และถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ทั้งนี้ ในฐานะสมาชิกสภาดิจิทัลฯ เชื่อว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะเป็นโซลูชั่นสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่างๆให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการรับมือภาวะวิกฤตขณะนี้

โดยล่าสุดสภาดิจิทัลฯ ได้ประกาศความร่วมมือกับสมาคม และพันธมิตร 36 องค์กรดิจิทัล รวมถึงแพทยสภา ระดมพลังจากทุกภาคส่วนทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล มาช่วยลดผลกระทบจากการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 โดยเน้นย้ำ 3 วัตถุประสงค์สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม การเชื่อมโยงเทคโนโลยีระหว่างโรงพยาบาลสนาม รวมถึงการดูแลตัวเองต่อที่บ้าน และการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของพันธมิตรในอุตสาหกรรมดิจิทัล

ขณะเดียวกันเพื่อบรรเทาผลกระทบในสถานการณ์วิกฤต โดยสภาดิจิทัลฯ ได้เริ่มต้นกับ 3 โรงพยาบาลสนามต้นแบบ ได้แก่ โรงพยาบาลสนาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ ดอนเมือง และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โดยการผนึกกำลังทุกภาคส่วนทั้งในแง่บุคคลากร อุปกรณ์ และอื่นๆ ในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ในแง่ของสภาดิจิทัลฯ จะเป็นช่องทางในการประสานงานและความคืบหน้าทั้งด้านการสนับสนุนภาครัฐ ในส่วนของโรงพยาบาลสนาม และในลำดับต่อไปในด้านการสนับสนุนและการเป็นส่วนเสริมภารกิจในการเป็นศูนย์หรือจุดในการฉีดวัคซีนซึ่งจะต้องมีการดำเนินการฉีดวัคซีนถึงเดือนละ 10 ล้านโดสให้กับประชาชนคนไทย โดยจะต้องขอแรงสนับสนุนจากสมาชิกในลำดับต่อไปร่วมกับแพทยสภาอีกด้วย ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ จะประสานและให้การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม และ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเข้าถึง และตอบสนองความต้องการเพิ่มเติมของโรงพยาบาล และ โรงพยาบาลสนาม ร่วมกับแพทยสภาอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง และ สภาดิจิทัลฯ จะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะต่อไป

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภาฯ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการติดต่อสื่อสารและประสานงานแก่โรงพยาบาลสนามเป็นเรื่องจำเป็นมากต่อการให้บริการสาธารณสุข ที่มีจำนวนคนไข้เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทำให้ทีมแพทย์ต้องใช้เวลาในการตรวจมากขึ้น โอกาสเสี่ยงก็ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการสนับสนุนในครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย รวมถึงเสริมการบริหารจัดการดูแลรักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลหลักกับ รพ.สนาม อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ก็จะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญมีโอกาสช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน