เปิดแผนหน่วยงานรัฐเตรียมพร้อมรับมือเข้าสู่ฤดูฝน-กังวล‘อุทกภัย’ : รายงานพิเศษ

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศสิ้นสุดฤดูร้อนเข้าสู่ฝนปี 2564 ในวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยระบุว่า ‘ฤดูฝน’ ปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 5-10% มีฝนตกชุกต่อเนื่อง และครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ

ส่วนในครึ่งหลังของฤดูฝน ปริมาณและการกระจายของฝนจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ในแต่ละปีหากเป็นช่วงฤดูแล้งไทยก็จะแล้งหนัก แต่เมื่อถึงฤดูฝนก็จะเกิดน้ำท่วม สร้างความเสียหายให้ผลผลิตด้านการเกษตรจำนวนมาก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ให้เฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

สทนช.กำหนดแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน และมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ดำเนินการควบคู่กันไป โดยแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน

กำหนดให้ใช้น้ำฝนในการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นหลักให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ ป้องกัน และลดความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติในฤดูฝน

ล่าสุดวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เร่งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมตลอดระยะเวลาฤดูฝน และติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยตลอดระยะเวลาฤดูฝน

ตัวเลขเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 37,806 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46% ของความจุอ่าง แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 33,091 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46% ของความจุอ่าง

สำหรับน้ำต้นทุนเข้าฤดูฝนจะใช้น้ำเพิ่มขึ้นเป็น 96,249 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำถึง 57,527 ล้านลูกบาศก์เมตร และจัดสรรน้ำตามกิจกรรมการใช้น้ำ ดังนี้

1.การอุปโภคบริโภค รวม 3,429 ล้านลูกบาศก์เมตร

2.การรักษาระบบนิเวศ รวม 12,888 ล้านลูกบาศก์เมตร

3.การเกษตรกรรม รวม 78,905 ล้านลูกบาศก์เมตร

และ 4.การอุตสาหกรรม รวม 1,027 ล้านลูกบาศก์เมตร

เปิดแผนหน่วยงานรัฐเตรียมพร้อมรับมือเข้าสู่ฤดูฝน-กังวล‘อุทกภัย’ : รายงานพิเศษ

สมเกียรติ ประจำวงษ์

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า จากการสำรวจและวิเคราะห์ศักยภาพแหล่งเก็บน้ำทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นและแหล่งน้ำธรรมชาติ พบว่าประเทศไทยมีแหล่งเก็บน้ำผิวดินรวม 82,950 ล้าน ลบ.ม. มีความต้องการน้ำเฉลี่ยปีละ 113,740 ล้าน ลบ.ม.

เมื่อวิเคราะห์ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้เทียบกับความต้องการน้ำตามช่วงฤดูกาล พบว่ามีปริมาณน้ำขาดในช่วงฤดูแล้ง 18,460 ล้าน ลบ.ม. และในฤดูฝนมีปริมาณน้ำเกินประมาณ 24,560 ล้าน ลบ.ม.

การเตรียมมาตรการรับมือในฤดูฝน ทำให้ปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงาน มีความเสียหายเพียง 94 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 9 ปี

ขณะที่ปี 2563 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 58 จังหวัด มูลค่าความเสียหาย 223 ล้านบาท ต่ำสุดเป็นลำดับที่ 3 ในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่อุทกภัยปี 2554

ดังนั้น สทนช.นำโมเดลความสำเร็จ เสนอให้ครม.พิจารณา โดยได้รับอนุมัติมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ประกอบด้วย

คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ ปรับปรุงข้อมูลทุกสิ้นเดือน

บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ตั้งแต่ 1 เม.ย. ถึง 15 ส.ค. 2564

ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ

ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์และระบบระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งานภายใน 30 มิ.ย.

ปรับปรุงและแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำให้เสร็จภายใน 30 มิ.ย.

ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวาให้เสร็จภายใน 30 มิ.ย.

เตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติให้เสร็จภายใน 30 มิ.ย.

เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำตลอดระยะเวลาฤดูฝน

เปิดแผนหน่วยงานรัฐเตรียมพร้อมรับมือเข้าสู่ฤดูฝน-กังวล‘อุทกภัย’ : รายงานพิเศษ

ประพิศ จันทร์มา

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลังประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ระหว่างเดือน พ.ค.-ต.ค. พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีฝนตกใกล้เคียงกับค่าปกติ หรือสูงกว่าเล็กน้อย

ส่วนปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปี 2564 มีมากกว่าปีก่อนหน้าแทบทุกภาค

โดยมีปริมาณน้ำเก็บกักได้ 35,652 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,047 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนทั่วประเทศสามารถรับน้ำได้อีก 40,415 ล้านลูกบาศก์เมตร

ยกเว้นเขื่อนในภาคตะวันตกที่มีปริมาณน้ำ 15,248 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,517 ล้านลูกบาศก์เมตร

ดังนั้น เขื่อนในภาคตะวันตกยังสามารถรับน้ำได้อีก 11,498 ล้านลูกบาศก์เมตร

ช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาฝนทิ้งช่วง เกษตรในพื้นที่ภาคกลางที่เริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ

กรมชลประทานจึงช่วยเหลือโดยการสูบน้ำจากคลองชัยนาท- ป่าสัก สนับสนุนพื้นที่การเกษตรที่ทำการเพาะปลูกไปแล้ว

สำหรับพื้นที่จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรฤดูฝนคาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูฝนปี 2564 ดังนี้

ในเขตชลประทาน มีจำนวน 11.56 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่ 1 (นาปี) จำนวน 10.62 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 6.1 แสนไร่ และพืชผัก จำนวน 3.2 แสนไร่

นอกเขตชลประทาน มีจำนวน 61.49 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่ 1 (นาปี) จำนวน 48.95 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 11.75 ล้านไร่ และพืชผัก จำนวน 7.9 แสนไร่

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร กรมชลประทานขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูกให้ชะลอการเพาะปลูกออกไปก่อน และขอให้เกษตรกรติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

ให้เริ่มทำการเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอและมีน้ำในพื้นที่เพียงพอ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

“ให้เกษตรขยับการทำนาปีออกไปก่อน เพราะฤดูฝนให้เพาะปลูกหรือทำนาโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลักกิจกรรมต่างๆ ในการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน ยังคงดำเนินการอยู่ ทั้งในเรื่องอุปโภคและบริโภค”

ภาครัฐยังรณรงค์ให้เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาทำนาปีโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เพราะบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อย น้ำอาจไม่เพียงพอ จึงให้จัดรอบเวรน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการจัดรอบเวรน้ำ เพื่อรอน้ำฝน

คาดการณ์ระหว่างวันที่ 24-29 พ.ค. อาจมีร่องมรสุมที่พัดผ่านภาคเหนือตอนล่าง อีสาน สถานการณ์น้ำเพื่อการเพาะปลูกน่าจะดีขึ้น

เปิดแผนหน่วยงานรัฐเตรียมพร้อมรับมือเข้าสู่ฤดูฝน-กังวล‘อุทกภัย’ : รายงานพิเศษ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล

ส่วน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพบกและกองทัพอากาศ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วย

เริ่มมีการเปิดหน่วยปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564 เนื่องจากมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ปัญหาหมอกควันและไฟป่า รวมทั้งพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำกักเก็บ ไม่เพียงพอ

จึงติดตามสภาพอากาศเพื่อขึ้นบินปฏิบัติการทำฝนมาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

อย่างไรก็ตาม นายประพิศในฐานะอธิบดีกรมชลประทาน เร่งวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัย ที่อาจจะเกิดน้ำท่วมโดย ให้จัดเตรียมคนพร้อมเครื่องมือ หากฝนตกหนักต้องนำน้ำท่วมขัง ระบายน้ำส่วนเกินเข้าไปเก็บไว้ในแก้มลิงให้เร็วที่สุด

กรมชลประทานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เตรียมรับฤดูฝนปี 2564 ดำเนินการทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทั้งสิ่งปลูกสร้าง และวัชพืชเพื่อรองรับสถานการณ์ฝนไม่ให้ท่วมขังในเวลานาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน