น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2564 ไว้ที่ 1.8% ภายใต้สมมติฐานของตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอก 3 ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่มีคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อใหม่ๆ เกิดขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ในเดือนก.ค.นี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

จากรัฐบาลเร่งกระจายฉีดวัคซีนในอัตราที่ใกล้คียงกับช่วงวันที่ 8-9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ 4 แสนโดสต่อวัน ซึ่งหลังจากนั้นเชื่อว่าจะทำให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลอาจมีการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มาฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการออกมาตรการเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ยังได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3

พร้อมกันนี้ ในเดือนก.ค. จะมีการเปิดโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ซึ่งศูนย์ข้อมูลกสิกรไทย มองว่าต่างชาติยังมาได้จำกัด โดยประเมินตัวเลขไว้ที่ 2.5 แสนคน-1.2 ล้านคน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกินทางมาเที่ยวประเทศไทยได้หรือไม่ และนโยบายของแต่ละประเทศจะเอื้ออำนวยให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องวัคซีน และการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แล้ว ภาครัฐยังต้องเตรียมรับมือกับอีก 4 โจทย์สำคัญ ได้แก่ ภาระทางการคลัง เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน และ ต้นทุนธุรกิจที่กำลังเพิ่มขึ้น โดยในระยะสั้นการขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เพดานหนี้สาธารณะระยะสั้นยังไม่มีประเด็น โดยจะเห็นระดับหนี้สาธารณะที่เกิน 60% ภายในปี 2565 แต่ในระยะกลาง หากยังมีการขาดดุลการคลังในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาจจะนำมาสู่ประเด็นความเชื่อมั่นทางภาคการคลังของไทย

ส่วนเงินเฟ้อไทยที่เพิ่มขึ้น แม้จะเป็นปัจจัยชั่วคราว คงไม่ทำให้ภาครัฐของไทยปรับนโยบายดอกเบี้ย แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้ดีก็จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดส่งสัญญาณถอยออกจากนโยบายการเงินผ่อนคลาย และนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ย จะกดดันให้ต้นทุนภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนี้ครัวเรือน จากการที่ฐานะการเงินของรายย่อยถดถอยลง จากรายได้ลด แต่รายจ่ายไม่ลด จะกระทบกลุ่มเปราะบาง ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 10.8% ในโควิดรอบ 2 มาเป็น 22.1% ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้สูงเกินกว่า 50% ต่อรายได้ ทำให้หนี้ครัวเรือนโดยภาพรวมสูงขึ้นใกล้แตะระดับ 90% ต่อจีดีพีภายในปีนี้ จะมีผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาดูแลอย่างจริงจัง หลังผ่านโควิดรอบนี้

ส่วนโจทย์สุดท้าย ต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมาในจังหวะที่กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ และตลาดมีการแข่งขันสูง จะกระทบผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี โดยประเมินว่าทุก 1% ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะกระทบภาคธุรกิจ 2.4 หมื่นล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน