นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้หารือร่วมกับ 10 สถาบันการเงินของรัฐและเอกชน ถึงแนวทางการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยสินเชื่อแฟคตอริ่ง และสินเชื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น เนื่องจากตลาดภาครัฐ เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี

โดยปัจจุบันภาครัฐมีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้าง เช่า สินค้าและบริการต่างๆ จากผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่ขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จนถึงการส่งงาน ตรวจรับงานเพื่อได้รับเงินตามสัญญา ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ อาจส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจ ดังนั้นการเข้าถึงสินเชื่อระยะสั้นช่วยผู้ประกอบการในแต่ละช่วง จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น

“สินเชื่อแฟคตอริ่งและสินเชื่อเกี่ยวกับการเป็นคู่ค้าภาครัฐของแต่ละธนาคารจะช่วยให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพมีโอกาสรับงานภาครัฐมากขึ้น ซึ่งรัฐจ่ายเงินแน่ๆ แต่ขั้นตอนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ และบางขั้นตอนผู้ประกอบการต้องวางเงินค้ำประกันล่วงหน้า เช่น เงินค้ำประกันซอง เงินค้ำประกันสัญญา หรือต้องรอระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินในแต่ละงวดงานภายหลังเซ็นสัญญา อาจจะส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจได้ หากได้สินเชื่อมาช่วย จะทำให้สภาพคล่องดีขึ้น”

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า สินเชื่อแฟคตอริ่ง และสินเชื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีความหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่การเป็นเงินทุนก่อนการเสนองาน เป็นเงินค้ำประกันสัญญา หรือเป็นเม็ดเงินสำหรับดำเนินกิจการในช่วงระหว่างส่งมอบงานและการเบิกจ่ายเงินจากภาครัฐ ซึ่งสถาบันการเงินมีความเห็นร่วมกันว่าควรมีเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงในการใช้คำสั่งซื้อปลอม (อินวอย) และการนำคำสั่งซื้อไปใช้ขอสินเชื่อหลายครั้ง สอดคล้องกับการดำเนินงานของ สสว. ที่อยู่ระหว่างประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพัฒนาระบบกลาง เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ให้กับสถาบันการเงินและหน่วยงานของรัฐ ป้องกันการนำเอกสารอินวอย ปลอมมาขอสินเชื่อ และนำเอกสารมาขอสินเชื่อหลายครั้ง

สำหรับธนาคารที่ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลครั้งนี้ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทยธนชาติ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารยูโอบี และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สสว.อีกครั้ง ก่อนจะแจ้งข้อมูลให้ผู้ประกอบการรับทราบในวงกว้างต่อไป

นอกจากนี้ สสว. ยังลงนามบันทึกความร่วมมือกับสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) ในการเชื่อมโยงข้อมูลและเนื้อหาความรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ SME Academy 365 ให้แก่เอสเอ็มอี เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพรับนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลในอีก 120 วัน และคาดว่าภายใน 1 ปี ผู้ประกอบการจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 36,000 ล้านบาทได้

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้ที่หลากหลายได้ง่าย และก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการส่งเสริมเอสเอ็มอี ด้วยระบบ SME Academy 365 โดยผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้ออนไลน์ ได้ที่ https://www.smeacademy365.com หรือ ดาวน์โหลด แอพพลิเคชั่น smeacademy365 ได้ทั้งระบบ Android และ iOS

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน