ปัญหาสินค้าชำรุดโดยเฉพาะของใหญ่ๆ หรือที่มีเทคโนโลยีซับซ้อน เช่น รถยนต์ หรือโทรศัพท์มือถือ หากเกิดขึ้นแล้วมักจะมีปัญหาใหญ่ตามมา ยิ่งกับรถยนต์มีราคาแพงหากเกิดปัญหามักกลายเป็นเรื่องใหญ่แทบทุกครั้ง

ส่วนใหญ่การฟ้องร้องค่าเสียหายแม้ ผู้บริโภคทำได้ แต่ก็ใช้เวลานานพอสมควรและต้องมีค่าใช้จ่าย

แม้จะมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คอยดูแล ผู้บริโภคอยู่ก็ตาม แต่สินค้าบางอย่างกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดให้อำนาจ สคบ.เข้าไปดำเนินการได้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นการ เช่าซื้อ

ทำให้ล่าสุด สคบ.เสนอออกกฎหมายฉบับใหม่ กำหนดบทบัญญัติสำหรับสัญญาเช่าซื้อ เพื่อให้ผู้บริโภคในสัญญาเช่าซื้อสามารถเรียกให้ผู้ขายดำเนินการจัดการกับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องได้โดยตรงด้วย

“สิ่งที่ สคบ.ทำได้คือพยายามเรียกผู้ซื้อและผู้ขายมาตกลงกันก่อน หรือเรียกว่าไกล่เกลี่ยกันก่อน ถ้ายอมความกันได้เรื่องก็จบง่ายหน่อย แต่ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ คงต้องไปฟ้องร้องกันเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องเฉพาะรายไป หรือกรณีที่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก สคบ.อาจจะเป็นผู้ฟ้องร้องเอง ตามกฎหมายที่ สคบ.มีอำนาจอยู่” พล.ต.ต. ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการ สคบ. กล่าว

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ถึงร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการเริ่มต้นการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้รับสิทธิในการเรียกร้องในกรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าที่ซื้อไปแล้วชำรุดบกพร่อง เป็นกฎหมายที่เพิ่มเติมจากหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เป้าหมายคุ้มครองสินค้าที่มีความซับซ้อน อาทิ รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ ที่มีปัญหาหลังจากซื้อออกจากร้านไปเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันบ่อยครั้งว่า สินค้านั้นชำรุดก่อนหรือหลังซื้อ

ขั้นตอนจากนี้ภายหลังจากกฎหมายผ่าน ครม.แล้ว จะส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบรายละเอียดของกฎหมายต่อไป

“สคบ.อยากคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสิทธิในการเรียกร้อง กรณีที่ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าที่ซื้อไปแล้วชำรุดบกพร่อง เพื่อจะได้ไม่มีภาพของคนไปทุบรถหน้า สคบ. เหมือนที่ผ่านมา กฎหมายมีสาระสำคัญกับการดูแลคนที่เช่าซื้อ หรือคนที่ผ่อนสินค้า จะมีสิทธิในการฟ้องร้องเหมือนกับผู้ที่เป็นคนซื้อสินค้า เพราะแต่เดิมคนกลุ่มนี้จะเป็นผู้เรียกร้องไม่ได้”

ที่ผ่านมากฎหมายความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีพื้นฐานจากเสรีภาพของบุคคล รัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า และอาศัยช่องว่างดังกล่าวเอาเปรียบผู้บริโภค ที่เป็นคนซื้อสินค้า ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ภาครัฐจึงต้องกำหนดกรอบความรับผิดชอบของเรื่องดังกล่าวออกมา เพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในลักษณะนี้ให้หมดไป

สาระสำคัญของกฎหมาย คือ กำหนดให้ผู้บริโภคที่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อมีสิทธิ์เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อ เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องต่อผู้ให้เช่าซื้อที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ กรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง ให้สถาบันการเงินในฐานะผู้ซื้อและเจ้าของกรรมสิทธิ์ โอนสิทธิทั้งหลายให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคที่เป็นเพียง ผู้ใช้สินค้าได้รับสิทธิเรียกร้องกับผู้ขายได้โดยตรง

และเมื่อสินค้าเกิดการชำรุด และผู้บริโภคใช้สิทธิเรียกร้องไปแล้ว ต่อมามีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าแต่ยังคงชำรุดอยู่ ก็ให้ผู้บริโภคมีสิทธิขอลดราคากับผู้ขาย หรือยกเลิกสัญญาซื้อขายได้ และให้ถือเป็นการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปด้วย

อย่างไรก็ตามยังให้ไปกำหนดความหมายของสินค้าชำรุดบกพร่องให้ชัดเจน หากสินค้าเสียหายภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่ วันส่งมอบ ให้สันนิษฐานว่าสินค้าชำรุดมาตั้งแต่วันส่งมอบ พร้อมกำหนดสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจกรณีสินค้าชำรุด เช่น การเรียกค่าเสียหายต้องให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้าได้ 2 ครั้ง หากยังชำรุดอยู่ก็ให้ผู้บริโภคบอกเลิกสัญญา ขอลดราคา เรียกค่าเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้

ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกว่าจะซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องได้ ส่วนกรณีที่สินค้านั้นผ่านการซ่อมแล้วแต่ไม่ได้ดีขึ้น ผู้บริโภคต้องการบอกเลิกสัญญา หรือลดราคา หรือเรียกค่า เสียหาย ต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบล่วงหน้า 7 วัน โดยข้อเรียกร้องนี้จะมีอายุความ 2 ปี

มาตราที่น่าสนใจของกฎหมายคือ มาตรา 5 ในกรณีที่สินค้าซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่อง ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นในกรณีดังต่อไปนี้ (1) สินค้านั้นแตกต่างออกไปจากข้อตกลงที่เห็นเป็นประจักษ์ชัดแจ้งในสัญญา หรือความมุ่งหมายที่จะใช้ประโยชน์จากสินค้าที่ปรากฏในสัญญา แตกต่างจากสภาพปกติธรรมดาของสินค้า

(2) ความชำรุดบกพร่องจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเกิดจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้าตามคู่มือการติดตั้งหรือประกอบสินค้า หรือการส่งมอบสินค้า ผิดประเภทหรือน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกันไว้

มาตรา 6 กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดต่อความชำรุดบกพร่อง ให้ผู้บริโภคมีสิทธิดังต่อไปนี้ (1) เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าได้ตามมาตรา 7 (2) เลิกสัญญาหรือขอลดราคาตามมาตรา 8 (3) เรียกค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายตามมาตรา 9 (2) ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิตาม (2) และ (3) ได้ก็ต่อเมื่อได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าไปก่อนแล้ว เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิเสธที่จะซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าอย่างชัดเจน

มาตรา 7 ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกให้ ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ตามที่ผู้บริโภคต้องการ

กรณีที่ผู้บริโภคเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนสินค้าให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการภายในระยะเวลาอันเหมาะสม โดยจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ ผู้บริโภคเกินจำเป็น และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นแก่การนั้น รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ

มาตรา 8 ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลิกสัญญาหรือขอลดราคาตามสภาพอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ตามที่ผู้บริโภคต้องการ โดยจะต้องแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบก่อนล่วงหน้าเจ็ดวัน แต่ผู้บริโภคไม่อาจจะใช้สิทธิเลิกสัญญาหรือขอลดราคาตามสภาพอย่างหนึ่งอย่างใดได้ หากปรากฏว่าความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเป็นความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

มาตรา 10 ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับผิดในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น ด้วยกลฉ้อฉล หรือผู้ประกอบธุรกิจได้ให้การรับประกันเกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้าที่ขายเอาไว้แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องนั้น (2) สินค้าที่ผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการขายทอดตลาดตามคำบังคับของศาล

พล.ต.ต.ประสิทธิ์กล่าวตบท้ายว่า หลังจากมีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว 1 รอบ เมื่อผ่าน ครม.และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบรายละเอียด ช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้า สคบ.ก็จะทำประชาพิจารณ์อีกรอบ เพื่อกำหนดให้แน่ชัดว่าสินค้าประเภทใดจะเข้าข่ายกฎหมายนี้ เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว สคบ.ก็จะออกเป็นกฎกระทรวงระบุบัญชีแนบท้ายว่าสินค้าชนิดใดจะเข้าข่ายบ้างต้องรอฟังผลการทำประชาพิจารณ์ก่อน ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ รถยนต์ และโทรศัพท์มือถือ หรือสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงๆ

หลังจากนั้นจะส่งให้ สนช.พิจารณาออกเป็นกฎหมาย ในขั้นสุดท้าย เร็วที่สุดน่าจะเป็นกลางปีหน้า

จากนี้ผู้บริโภคอุ่นใจได้ว่าซื้อของหรือสินค้ามาแล้ว ถ้าชำรุดหรือบกพร่องในเวลาที่กำหนดยังมีกฎหมายคุ้มครองในระดับหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน