นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 2564 มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.59% หรือคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 714,885.27 ล้านบาท เป็นการขยายตัวเติบโตสูงสุดในรอบ 11 ปี และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยออก การส่งออกจะบวกมากกว่า โดยบวกถึง 45.87% และการนำเข้ามีมูลค่า 22,261.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 63.54% เกินดุลการค้ามูลค่า 795.95 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนการส่งออกรวม 5 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 108,635.22 ล้านเหรียสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.78% หากหักน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยออก จะเติบโตถึง 17.13% และการนำเข้า มีมูลค่า 107,141.12 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21.52% เกินดุลการค้ามูลค่า 1,494.10 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้น มาจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญๆ ของไทย เริ่มฟื้นตัว เช่น สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และยังได้รับผลดีจากแผนการขับเคลื่อนการส่งออก ที่กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนและทำอย่างเข้มข้นต่อเนื่องในรูป กรอ.พาณิชย์ ทำให้แก้ปัญหาอุปสรรคได้รวดเร็ว ทันท่วงที และมั่นในว่าเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 4% น่าจะทำได้ดีกว่านี้ และแนวโน้มจากนี้ไป การส่งออกจะสามารถทำหน้าที่เป็นหัวจักรสำคัญ เป็นพระเอกขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ

นอกจากนี้ ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกได้แก้ปัญหาเป็นผลสำเร็จ จนส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย เช่น ปัญหาการส่งออกรถยนต์ไปประเทศเวียดนามที่ต้องถูกตรวจสอบการนำเข้าจากไทยทุกล็อต มีการเจรจาจนได้สามารถตรวจสอบได้จากไทยหรือเวียดนามก็ได้ ส่งผลให้ส่งออกรถยนต์เพิ่ม 922% และส่งออกไปไปทั้งโลกเพิ่ม 170% ส่วนผลไม้ ได้แก้ไขปัญหาติดขัดที่ด่านชายแดนและข้ามแดน ส่งผลให้ส่งออกเพิ่มถึง 31.9% โดยเฉพาะทุเรียน เพิ่ม 95% ขณะที่ปัญหาเรื่องขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ได้แก้ไขให้มีการผ่อนปรนให้เรือใหญ่ 400 เมตรเข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้ส่งออกคล่องตัวขึ้น และยังมีแผนเจรจากับกระทรวงคมนาคม อนุญาตให้เรือใหญ่เข้ามาได้ตลอดไป ไม่ใช่แค่ 2 ปี เพราะการส่งออกยังต้องทำต่อเนื่อง ไม่ใช่ 2 ปี แล้วเลิก

นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับแผนในระยะต่อไป จะยังคงดำเนินการภายใต้ กรอ.พาณิชย์ ประกอบด้วยการเร่งรัดเปิดตลาดใหม่ ให้มีผลในภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศที่แตกจากรัสเซีย กลุ่มเอเชียใต้ และแอฟริกา, การเร่งรัดการค้าชายแดนและผ่านแดน

ส่วนกรณีที่มีคนงานในอุตสาหกรรมอาหารติดเชื้อติดเชื้อโควิด-19 นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นเฉพาะกรณีไม่ใช่เป็นเรื่องทั่วไป อาหารไทยยังได้รับความเชื่อมั่นในตลาดโลกทั้งรสชาติ คุณภาพ และความปลอดภัย และหากโรงงานใดประสบปัญหาผู้นำเข้ามีข้อสงสัยหรือไม่มั่นใจ ก็ขอเอกสารรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้ โดยได้ร่วมมือกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ขณะเดียวกันสั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) หรือทูตพาณิชย์ เร่งสร้างความเข้าใจกับผู้นำเข้าในต่างประเทศทั้งในรูปแบบต่างมาโดยตลอด และยืนยันว่าปัญหาต่างๆ ไม่ได้เป็นปัญหาในภาพรวม ไม่อยากให้นำประเด็นเหล่านี้ไปขยายผลเพราะอาจสร้างความไม่เข้าในให้เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็น

นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องจากนโยบายกระทรวงพาณิชย์ในทุกทางช่องทาง ซึ่งภาพรวมในตลาดสำคัญมีการขยายตัวในหลายประเทศทั้งกลุ่มตลาดหลัก ขยายตัว 39.9% เช่น ตลาดสหรัฐขยายตัว 44.9% จีนขยายตัว 25.5% และญี่ปุ่น 27.4% ตลาดสหภาพยุโรป 54.9% และ CLMV 46.8% ส่วนตลาดอาเซียนกลับมาขยายตัว 51.0%

สินค้าที่ขยายตัวดี ยังเป็นสินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวในระดับสูง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าได้เป็นอย่างดี

สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยยังคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น การกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ และทีมกรอ.พณ. จะกำหนดวันประชุมหารือร่วมภาครัฐกับเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน