นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนพ.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 100.47 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.84% อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ 65.38% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 59.94% ส่วนภาพรวมเอ็มพีไอ 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2564) ที่อยู่ที่ระดับ 100.7 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 93.3 สะท้อนภาคการผลิตไทยเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในลักษณะเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด โดยช่วง 5 เดือนแรกปี 2562 เอ็มพีไออยู่ที่ระดับ 106.4

นอกจากนี้ ยังเห็นได้จากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 60.72% สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น รวมทั้งการผลิตบางกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมมีระดับค่าเอ็มพีไอในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่า 5 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่ไม่มีการระบาดโควิด-19 อาทิ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ และบรรจุภัณฑ์กระดาษ

“สศอ.ขอติดตามทิศทางภาคการผลิตเดือนมิ.ย.อีกครั้ง เพื่อพิจารณาปรับคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี)ภาคอุตสาหกรรมปีนี้ที่ปัจจุบันคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% และเอ็มพีไอปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 2-3% เพราะดูจากแนวโน้มขณะนี้น่าจะดีขึ้น การส่งออกไปได้ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของโควิด-19 และการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์ใหม่ๆ ในประเทศอย่างใกล้ชิด”นายทองชัยกล่าว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้นอย่างชัดเจน จากทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น และจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและบริโภค เห็นได้จากดัชนีเอ็มพีไอขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเฉลี่ย 7.97%

ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมามีบางโรงงานอุตสาหกรรมต้องหยุดการผลิตชั่วคราว แต่เป็นการหยุดผลิตเฉพาะบางไลน์การผลิตเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ทำให้โรงงานสามารถกลับมาเร่งกำลังการผลิตได้เหมือนเดิม เพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

ประกอบกับกระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรการขอความร่วมมือให้สถานประกอบการทั่วประเทศกว่า 64,000 แห่งประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ไทย สต็อป โควิด-19 พลัส ทุกสองสัปดาห์ และให้พนักงานรวมกว่า 3.3 ล้านคน ประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม ไทยเซฟไทย ก่อนเข้าปฏิบัติงานทุกครั้ง ตั้งเป้าหมายให้โรงงานดำเนินการครบทุกแห่งภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้

นอกจากนี้ ยังมีแผนเร่งจัดตั้งศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนทั้งในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานขนาดใหญ่ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงแรงงานจะเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ คาดว่าภายในเดือนส.ค. จะครอบคลุม 50% ของนิคมทั้งประเทศ ส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน