นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 2 ปี 2564 เศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีเกษตร) ขยายตัว 1.2% เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย มีฝนเพิ่มขึ้นช่วงครึ่งหลังปี 2563 และต้นปี 2564 ทำให้การผลิตพืชและปศุสัตว์ดีกว่าปี 2563 ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิต ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2563 ถือว่าเศรษฐกิจการเกษตรขยายตัวปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวถึง 3.1% จากปัญหาฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร

แนวโน้มจีดีพีภาคเกษตรปี 2564 จะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.7-2.7% เมื่อเทียบกับปี 2563 ทุกสาขาการผลิตมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากขึ้น เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐในด้านการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่มีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีในการผลิต และการยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความแปรปรวนของสภาพอากาศ แนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และความผันผวนของค่าเงินบาท อาจส่งผลกระทบต่อการกระจายสินค้า ต้นทุนการผลิต และการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อการกระจายสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ รวมถึงกิจกรรมการผลิตของโรงงานแปรรูปบางแห่งต้องหยุดชะงักลง ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรบางชนิดชะลอตัวลงไปด้วย

ทั้งนี้ ภาครัฐยังมีมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตร อาทิ การส่งเสริมอาชีพเกษตร การพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การประกันรายได้ และการพักชำระหนี้ เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านน.ส.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรขยายตัวได้ในไตรมาส 2 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของทุกสาขา ยกเว้นสาขาประมงที่หดตัว โดย สาขาพืชขยายตัว 2% พืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝนมาก และราคาข้าวเปลือกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรมีการขยายเนื้อที่เพาะปลูก มันสำปะหลัง ช่วงที่ผ่านมาราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่ปลูกทดแทนอ้อยโรงงานที่ราคา มีแนวโน้มลดลง

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรมีการดูแลเอาใจใส่แปลงปลูกและเฝ้าระวังโรคมากขึ้น ประกอบกับมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น สับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรบำรุงรักษาต้นสับปะรดดีและขยายพื้นที่ปลูกสับปะรดในพื้นที่ปลูกสับปะรดที่ปล่อยว่างในช่วงที่ผ่านมา ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ รวมทั้งภาครัฐได้ดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้น และ ทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี ผลไม้อื่นๆ เช่น เงาะ มังคุด และลองกอง เริ่มให้ผลผลิตในปี 2564 เป็นปีแรก

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัว 2.3% จากการความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และไทย การบริหารจัดการฟาร์มที่ดี รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นของระบบ Biosecurity ของฟาร์ม เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในระดับสูงสุด สาขาประมง หดตัว 3.6% ผลมาจากผลผลิตประมงทะเลในส่วนของปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ผลผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล และปลาดุก มีทิศทางเพิ่มขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัว 2.5% กิจกรรมการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น สาขาป่าไม้ ขยายตัว 2% จากผลผลิตไม้ยางพาราขยายตัวตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น ขณะที่ผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น จีน และญี่ปุ่น เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษและเป็นพืชพลังงาน ด้านผลผลิตรังนกของไทยยังมีศักยภาพและคุณภาพสูงเมื่อเทียบกับรังนกของคู่แข่ง ทำให้มีความต้องการจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน