น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนและ/หรือยาในประเทศและการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แก่ผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสามารถนำเงินสนับสนุนแก่โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาของสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หรือหน่วยงานภาครัฐมาขอสิทธิประโยชน์ตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ได้

กรณีที่เงินสนับสนุนมีมูลค่าอย่างน้อย 1% ของยอดขายของโครงการใน 3 ปีแรกรวมกัน หรืออย่างน้อย 200 ล้านบาท จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1-3 ปี และเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในสัดส่วน 100% ของค่าใช้จ่าย และในกรณีที่ค่าใช้จ่ายไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ จะเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในสัดส่วน 100% ของค่าใช้จ่ายเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังผ่อนปรนเงื่อนไขและขยายเวลาการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการได้สิทธิบีโอไอ ได้แก่ การผ่อนผันขยายเวลาการดำเนินการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เช่น ISO 9002, CMMI เป็นต้น แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการตรวจประเมินที่ล่าช้า หรือไม่สามารถตรวจประเมินในสถานประกอบการได้ โดยขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือน นับจากวันครบกำหนดการดำเนินการระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค. 2564 และการผ่อนผันการขออนุญาตหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค. 2564 สามารถกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตจากบีโอไอ

น.ส.ดวงใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ กระตุ้นไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยขยายขอบข่ายของประเภทกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า และรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ให้ครอบคลุมการผลิตแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV Platform) ที่สามารถนำไปใช้งานร่วมกันได้ระหว่างยานยนต์ไฟฟ้าหลายแบรนด์และรุ่นที่แตกต่างกัน

โดยแพลตฟอร์มต้องเป็นตามเงื่อนไขที่ประกอบด้วย ระบบกักเก็บพลังงาน โมดูลชาร์จ และเพลาหน้าเพลาหลัง ซึ่งจะช่วยลดจำนวนวัตถุดิบที่ต้องใช้ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการผลิตและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale)

ขณะเดียวกัน ยังเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถจักรยานไฟฟ้า (Electric Bicycle หรือ E-BIKE) โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากมีการผลิตมอเตอร์ลากจูง (Traction Motor) และ/หรือการผลิตโครงรถจักรยานไฟฟ้าจากวัสดุน้ำหนักเบาภายใน 3 ปี นับจากวันออกบัตรส่งเสริม จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีกกรณีละ 1 ปี และยังขอสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมหากมีการวิจัยพัฒนาได้ด้วย

ล่าสุด บอร์ดบีโอไออนุมัติการขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบ COGENERATION ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,046 ล้านบาท ไม่รวมที่ดินและทุนหมุนเวียน 5,568 ล้านบาท ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

สำหรับภาวะการส่งเสริมการลงทุนใน 6 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย. 2564) มีจำนวนโครงการ 801 โครงการ เพิ่มขึ้น 14% อยู่ในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 232 โครงการ คิดเป็น 29% ของโครงการทั้งหมด เงินลงทุน 386,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% อยู่ในพื้นที่อีอีซี 126,640 ล้านบาท คิดเป็น 33% ของเงินลงทุนทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน