ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดำดิ่ง ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน เอกชนวอนรัฐหนุนงบให้เอกชนตั้งพื้นที่กักตัว-รพ.สนาม ซื้อชุดตรวจโควิด และพักต้นพักดอก 1 ปี

ความเชื่อมั่นอุตฯ ทรุด – นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. 2564 อยู่ที่ระดับ 76.8 ลดลงเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 78.9 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2563 และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาคและทุกขนาดอุตสาหกรรม

โดยจากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,395 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิด 75.8% เศรษฐกิจในประเทศ 74% สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 54% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 42.2% ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ คือ การที่ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด

“ต้องยอมรับว่าการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ตลอดเดือนส.ค. ไม่ได้ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่างจากก่อนล็อกดาวน์ช่วงเดือนก.ค. แต่ยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลดลง จากการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตลดลงและการส่งมอบสินค้าล่าช้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ซึ่งภาคเอกชนหวังว่าการล็อกดาวน์จะไม่เกิดขึ้นอีก”

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยังมีความกังวลเกี่ยวการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานในโรงงานที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีความไม่แน่นอนสูง กำลังซื้อในประเทศที่ยังอ่อนแอ และปัญหาขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้านการส่งออกอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศชะลอลงจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย ประกอบกับปัญหาอัตราค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น รวมถึงปัญหาขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลกระทบต่อการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 90.9 จากก่อนหน้านี้คาดว่าอยู่ที่ระดับ 89.3 โดยผู้ประกอบการมองว่าหากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครอบคุลมทุกกลุ่ม จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ และจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐควรเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงเร่งขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ โดยขอให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งพื้นที่กักตัวและโรงพยาบาลสนามภายในโรงงาน รวมทั้งช่วยจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจทดสอบหาเชื้อโควิดด้วยตัวเองในสถานประกอบการทุก 14 วัน ควบคู่กับขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 รวมทั้งจัดให้มีหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ให้แก่แรงงานที่สถานประกอบการ และขอให้ขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้กับสถานประกอบการ รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน