นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ผลจากความร่วมมือกับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2559-2564 ประสบความสำเร็จมาก มีสตาร์ตอัพได้รับทุนสนับสนุนจากในการพัฒนาสตาร์ตอัพผ่านโครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ (Angel Fund) กว่า 200 ทีม ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ มากกว่า 370 ทีม สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้กว่า 550 ล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล

ส่วนโครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect) ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพผ่านการคัดเลือกจำนวน 25 กิจการ จากที่สมัครเข้ามาทั้งหมด 50 กิจการ สามารถลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้มากกว่า 25 ล้านบาท และช่วยเชื่อมโยงให้สตาร์ตอัพเข้าถึงตลาดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 75 ล้านบาท

“มั่นใจว่าทั้ง 2 โครงการ จะช่วยยกระดับให้สตาร์ตอัพไทยมีช่องทางในการก้าวไปสู่การเติบโตที่ดีขึ้น ทำให้เกิดมิติใหม่ของการดำเนินธุรกิจสตาร์ตอัพในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะ “เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ ดีพเทค” คาดว่าจะมีสตาร์ตอัพได้รับการลงทุนไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท”

สำหรับในระยะถัดไป สิ่งที่ดีพร้อมจะช่วยส่งเสริมให้เกิดสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น คือการสร้างระบบนิเวศผ่าน SandBOX : แซนด์บ็อกซ์ หรือพื้นที่บ่มเพาะธุรกิจโดยใช้ทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจเครือข่ายเปิดพื้นที่ให้กับสตาร์ตอัพได้มีโอกาสทดลองใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทั้งระบบออนไลน์ ออฟไลน์ ส่งเสริมการพัฒนาดีพเทค ในหลากหลายด้าน เช่น การแพทย์ครบวงจร การผลิตแห่งอนาคต การเกษตร อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ตรงกับความต้องการในตลาดโลก

นอกจากนี้ จะปลดล็อกข้อจำกัดการดำเนินธุรกิจสตาร์ตอัพ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ด้านแผนธุรกิจเพื่อให้สามารถระดมทุนจากภาคเอกชนได้ง่ายขึ้น การส่งเสริมเข้าระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต่อเนื่องไปสู่การร่วมพัฒนาระบบบริการของภาครัฐให้มีความทันสมัยตามแนวคิดรัฐบาลดิจิตอลได้มากขึ้น

ด้านนายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดลต้าได้สนับสนุนกิจกรรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมากว่า 6 ปี เพื่อให้สตาร์ตอัพที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสในการเอาแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์ไปต่อยอดให้เป็นผลงานที่สำคัญและสร้างธุรกิจในอนาคต โดยปีนี้มีสตาร์ตอัพที่น่าสนใจหลายบริษัท เช่น บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเทคโนโลยีหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยสำหรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรม บริษัท MUI Robotics จำกัด ในในเทคโนโลยีสัมผัสประดิษฐ์สำหรับหุ่นยนต์ในการทดสอบกลิ่นและรสชาติของอาหาร บริษัท ซีดีเทค จำกัด ในเทคโนโลยีการบำบัดน้ำและแยกตะกอนด้วยไฟฟ้า

ขณะที่นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้มีสตาร์ตอัพที่น่าสนใจ เช่น บริษัท MUTHA จำกัด ในผลิตภัณฑ์เท้าเทียมนวัตกรรมจากคาร์บอนไฟเบอร์ ที่จะช่วยให้ผู้พิการสามารถเดินได้อย่างสะดวกมากขึ้น บริษัท NEF จำกัด สำหรับเทคโนโลยีระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยและผู้สูงอายุบนเตียง และบริษัท IQMED Innovation สำหรับเทคโนโลยีกล่องเลื่อนย้ายไต เป็นต้น จะเป็นได้ว่าเทคโนโลยีเชิงลึกในปีนี้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมการแพทย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน