โควิดระลอก 3 ฟาดเศรษฐกิจไทยพัง 8.5 แสนล้าน ไทยพาณิชย์ หั่นจีดีพีปีนี้ เหลือแค่ 0.7% – ชี้แผลเป็นเศรษฐกิจรุนแรง

โควิดฟาดเศรษฐกิจพัง – นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center หรือ EIC (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อีไอซีปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 ลงเหลือ 0.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 0.9% ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศระลอก 3 ที่รุนแรง และยืดเยื้อ รวมทั้งมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก สะท้อนจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนก.ค. ที่หดตัวถึง 8.1%

รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าคาดจากเดิมคาดการณ์ไว้ 3 แสนคน ลดเหลือ 1.7 แสนคน เพราะความกังวลของสถานการณ์ระบาดในประเทศ ขณะที่ภาคส่งออกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปี จากฐานของปีก่อนหน้าที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีการสะดุดตัวจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน อีกทั้ง ปัญหาด้านการหยุดชะงักของซัพพลายเชนที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งการปิดโรงงานในประเทศ และการหยุดการผลิตในประเทศคู่ค้า

นายยรรยง ไทยเจริญ

“ประเมินผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่เดือนเม.ย. จนถึงเดือนก.ย. 2564 เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจแล้วกว่า 8.5 แสนล้านบาท หรือ 5.3% ของจีดีพี ซึ่งรุนแรงมากกว่าระลอกแรกและระลอก 2 แต่ความช่วยเหลือของภาครัฐออกมาจนถึงปัจจุบันเพียง 2-3 แสนล้านบาทเท่านั้น ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นอีไอซี จึงคาดว่าภาครัฐจะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี โดยจะเป็นการใช้เม็ดเงินจนหมด พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และอีก 2 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ที่ขณะนี้แผลเป็นเศรษฐกิจไทยค่อนข้างรุนแรง”

นายยรรยง กล่าวว่า นอกจากนี้ ภาครัฐควรกู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูการบริโภค และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย แม้ระดับหนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นกว่าเพดานหนี้ที่ 60% ต่อจีดีพี แต่หากภาครัฐใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการได้ เพราะขณะนี้ดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องในประเทศมีอยู่สูงจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากกว่า เพื่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะบริหารจัดการได้ และจะช่วยลบแผลเป็นของเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่จีดีพีจะติดลบถึง 0.5% ในปีนี้ หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง และกลับมาคุมเข้มมาตรการล็อกดาวน์ในไตรมาสที่ 4 รวมทั้งหากภาครัฐไม่ออกมาตรการเยียวยาเพิ่ม ซึ่งควรต้องใช้จ่ายอีก 2 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูการบริโภค และช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ในไตรมาสที่ 4 นี้ และจะส่งผลในปี 2565 ซึ่งอีไอซี คาดว่าจีดีพีจะเติบโตได้ 3.4%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน