วันที่ 17 ก.ย. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. ขอแจ้งข้อเท็จจริงทางคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่าเมื่องวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดพร้อมเพื่อกำหนดพยานและกำหนดประเด็นในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยไม่ได้เดินทางไปศาล โดยโจทก์มอบหมายผู้รับมอบอำนาจ และทนายความ ส่วนจำเลยมอบหมายให้พนักงานอัยการในฐานะทนายจำเลยเดินทางไปศาลเช่นเดียวกัน ซึ่งในกระบวนการพิจารณา ศาลเห็นว่าเนื่องจากคู่ความยังไม่ได้รับเอกสารที่ใช้ในการไต่สวนครบถ้วน ศาลจึงเห็นควรเลื่อนนัดพร้อมเพื่อกำหนดพยานและกำหนดประเด็นในการไต่สวนมูลฟ้องออกไปเป็นวันที่ 25 ต.ค. 2564 เวลา 13.00 น.

ทั้งนี้สำหรับประเด็นเรื่องข้อเท็จจริงทางคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ปัจจุบันมีการฟ้องคดีรวม 3 คดี แบ่งเป็นคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 และเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี คือ คดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564

โดยคดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดพร้อมเพื่อกำหนดพยานและกำหนดประเด็นในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 25 ต.ค. หลังจากนั้นเมื่อมีการกำหนดประเด็นแล้ว ศาลจึงจะนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวต่อไป ดังนั้น ปัจจุบันคดีนี้ศาลจึงเพียงแต่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้ไต่สวนมูลฟ้องเท่านั้น แต่ยังมิได้มีการรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแต่อย่างใด

ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการเพิกถอนหลักเกณฑ์อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอีกต่อไป คงเหลือแต่ข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดจำนวน 500,000 บาท เท่านั้น

ขณะที่คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องข้อหาเกี่ยวกับการการกระทำละเมิด และคำขอห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่ไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. ตามกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในครั้งใหม่อีกต่อไป คงเหลือแต่ข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนหรือยกเลิกมติหรือประกาศที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้เท่านั้น

“รฟม. ขอยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดอย่างครบถ้วนแล้ว และจะเดินหน้าเปิดประมูลครั้งใหม่ต่อไป มั่นใจว่า คดีที่ค้างศาลทั้ง 3 คดี จะไม่ส่งผลกระทบทำให้การประมูลสะดุด โดยเฉพาะคดีอาญานั้นผู้ฟ้องไม่ได้ฟ้องร้องประเด็นให้ศาลระงับการเปิดประมูลรอบใหม่”

ทั้งนี้สัปดาห์หน้า จะมีการประชุม คณะกรรมการมาตรา 36 เพื่อพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนคาดว่าจะเปิดขายเอกสารประกวดราคาได้ในเดือนต.ค.64 และให้เวลาเอกชนที่สนใจทำข้อเสนอภายในเดือนธ.ค.64 จากนั้นจะใช้เวลาประเมินข้อเสนอ ช่วง ม.ค.-มี.ค.65 จากนั้นจะดำเนินการเจรจาต่อรองได้ข้อยุติในเดือนมี.ค.65 คาดว่าเดือนเม.ย.ปี 65 จะสามารถนำเสนอผลการคัดเลือกเอกชนที่ชนะการประมูลให้ คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน