นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการขนส่งและจราจรของประเทศ ครั้งที่ 2/2564 ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 ว่า ที่ประชุม คจร. เห็นชอบผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณาผลักดันแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบร่างโครงข่ายแผนแม่บท MR – Map หรือ แผนการพัฒนามอเตอร์เวย์ ให้สอดคล้องกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำร่างโครงข่ายเส้นทางเบื้องต้น 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 6,530 กิโลเมตร ประกอบด้วยเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับเส้นทางระบบราง 4,470 กิโลเมตร เส้นทางเฉพาะทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 1710 กิโลเมตร และเส้นทางเฉพาะระบบราง 350 กิโลเมตร

โดยจะพิจารณา 4 โครงการนำร่อง 4 เส้นทางก่อน จากแนวเส้นทางโครงข่ายใน 10 เส้นทาง ได้แก่ 1. เส้นทาง MR8 ชุมพร – ระนอง ระยะทาง 91 กิโลเมตร 2. เส้นทาง MR10วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ระยะทางรวม 283 กิโลเมตร 3. เส้นทาง MR2 หนองคาย (ด่านหนองคาย) – แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา – แหลมฉบัง ระยะทาง 297 กิโลเมตร และ 4. เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา – อุบลราชธานี ระยะทาง 404 กิโลเมตร

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง (สถานีรังสิต) โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของการจัดทำระบบ Feeder รถไฟฟ้าสายสีแดง โดยใช้รถโดยสารขนส่งมวลชนแบบพิเศษตามมติคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดปทุมธานี และคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และให้จังหวัดปทุมธานี กรมการขนส่งทางบก และกรมทางหลวง ดำเนินการพัฒนาเพื่อรองรับการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วง บางซื่อ – รังสิต และรายงานผลการดำเนินการให้คจร. รับทราบ มีรายละเอียดดังนี้ เส้นทางระบบ Feeder เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้ารังสิตจำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่

เส้นทางที่ 1 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต – ธัญบุรีคลอง 7 ใช้เส้นทางถนนรังสิต-นครนายกระยะทางประมาณ 19.3 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 2 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ใช้เส้นทางถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนคลองหลวงหน้า ม. ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ระยะทางประมาณ 19.1 กิโลเมตร เป็นระยะแรกก่อน หากสถานีรถไฟฟ้า ม. ธรรมศาสตร์ (รังสิต) เปิดใช้ ก็พิจารณาปรับเส้นทางต่อไป

เส้นทางที่ 3 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต – แยก คปอ. ใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน ระยะทางประมาณ 10.6 กิโลเมตร

นอกจากนี้ มอบหมายให้จังหวัดปทุมธานีและกรมทางหลวง ดำเนินการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของเส้นทาง ดังนี้ เส้นทางที่ 1 บนถนน ทล.305 ได้แก่ (ก) Smart Bus Stop (ข) ทางเชื่อมสะพานลอยคนข้ามที่เกาะกลาง (ค) ช่องทางพิศษ (Reversible Bus Lane) และ (ง) สัญญาณไฟควบคุมช่องทางพิเศษ และเส้นทางที่ 2 และ 3 บนถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนพหลโยธิน ได้แก่ Smart Bus Stop

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน