ประชาชนอ่วม! ราคาน้ำมันขาขึ้น กระทรวงพลังงาน ชี้ 2 ปัจจัย โควิดคลี่คลาย-ภูมิภาคตะวันตกเข้าสู่ฤดูหนาว

ชาวบ้านอ่วมน้ำมันขาขึ้น – นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 2 ปัจจัย คือ การคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัว ประกอบกับประเทศในแถบภูมิภาคตะวันตกกำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานมีการปรับตัวเพิ่มมากขึ้น

โดยทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในไตรมาส 2 ของปีหน้า ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ หลังการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนต.ค. 2564 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้

“ต้องยอมรับว่าราคาพลังงานอยู่ในช่วงขาขึ้น และยังมีความผันผวน จากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งภูมิภาคตะวันตกเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ราคาพลังงานและเชื้อเพลิงในทวีปยุโรปพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณก๊าซคงคลังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งอุปทานจากรัสเซียที่ลดลงต่ำกว่าปกติ แต่อุปสงค์ทางฝั่งเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ติดตามเฝ้าระวัง รวมถึงการดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเตรียมพร้อมกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การผลิตน้ำมันในสหรัฐ ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนไอดาและนิโคลัส ทำให้การผลิตหายไปกว่าราว 26 ล้านบาร์เรล ซึ่งส่งผลให้ราคายืนในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ให้การช่วยเหลือราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) โดยตรึงราคาขายปลีกสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ออกไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 2564

นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันฯ ยังมีมาตรการสนับสนุนทำให้ราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซล B7 ถึงลิตรละ 3 บาท เพื่อสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ ช่วยสร้างเสถียรภาพราคาผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร อีกทั้งการนำเอทานอลและไบโอดีเซลมาผสมในน้ำมันยังช่วยลดการนำเข้า มสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้เกิดขึ้นในประเทศ และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน