นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. เปิดรับฟังความคิดเห็น “กรอบแผนพลังงานชาติ” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2608-2613 คาดแผนพลังงานแห่งชาติจะเริ่มใช้ได้จริงปี 2566 ก่อนมอบให้แต่ละหน่วยงานจัดทำ 5 แผนย่อย เพื่อสรุปเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาอีกครั้งช่วงปลายปี 2565

โดย กพช. มอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการระยะเร่งด่วน เช่น 1. จัดทำแผนพลังงานชาติ ภายใต้กรอบนโยบายที่ทำให้ภาคพลังงานขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ Neutral-Carbon Economy ได้ในระยะยาว

2. พิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ และปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018 rev.1) ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ช่วงปี 2564-2573 ตามความเหมาะสม โดยให้นำหลักการวางแผนเชิงความน่าจะเป็นโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) มาใช้เป็นเกณฑ์ แทนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งไม่สะท้อนผลจากความไม่แน่นอนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สูงขึ้นได้

3. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ รองรับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และสามารถตอบสนองต่อการผลิตไฟฟ้าได้อย่างทันท่วงทีโดยไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ

“สนพ. จะเริ่มเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน หลังจากนั้นจะนำมาปรับปรุงแผนฯ และมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานนำแผนฯ ไปจัดทำแผนย่อย ซึ่งมีทั้งหมด 5 แผน ได้แก่ แผน PDP 2022 และ แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ โดย สนพ. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และแผนอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง ทางกรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้รับผิดชอบ”

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 5 แผน จะถูกรวบรวมและจัดทำให้เป็นแผนพลังงานชาติเพียงฉบับเดียว โดยหลังจากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้ได้แผนพลังงานชาติที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจัดทำแผนร่วมกันกำหนดทิศทางให้นโยบายด้านพลังงานของประเทศไทย และจะนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และกพช. ต่อไป เพื่อเตรียมรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Neutral-carbon economy) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่เน้นการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะภายในช่วงเวลา 1-10 ปี ข้างหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน