กระทรวงการคลังฟันธงจีดีพีปีนี้โต 1.3% ลั่นเป็นตัวเลขค่อนข้างดี – ลุยอัดมาตรการหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว

ขุนคลังฟันธงจีดีพีปีนี้โต 1.3% – นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในการเปิดงาน “Sustainable Thailand 2021 รวมพลังนักลงทุนสถาบันและภาคธนาคาร ร่วมกันประกาศเจตจำนงร่วมสร้างประเทศไทยยั่งยืน” ว่า คลังคาดว่าเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2564 จะสามารถเติบโตได้ที่ระดับ 1.3% ซึ่งถือเป็นตัวเลขค่อนข้างดี

ขณะที่ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ระดับ 4-5% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้กำลังเผชิญและต้องรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดหลายรอบ และที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง มีการกู้เงินและใช้นโยบายด้านการคลังเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงาน มีการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่างๆ เพื่อรักษาการบริโภคภายในประเทศ

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลวางแผนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ ในแผนดังกล่าวจะมีการวางแนวทางสำหรับประเทศไทยในการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

“เศรษฐกิจไทยกำลังรับมือกับโควิด-19 ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามออกมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่าน 2-3 มาตรการ อาทิ การเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งภาคธุรกิจและประชาชน การจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้หลายส่วนมีรายได้มากขึ้น และการวางนโยบายการคลังเพื่อช่วยเหลืออย่างฉุกเฉิน ควบคู่กับการเร่งกระจายวัคซีน ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง และเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายอาคม กล่าว

สำหรับการฟื้นตัวในระยะยาวนั้น ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ผ่าน 6 แนวทาง ได้แก่ 1. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยการเน้นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economy Model) ซึ่งสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

2. การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่ 12 เป้าหมาย รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในอีอีซี ที่ในอนาคตจะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย 3. การสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิตอล 4. การให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่ายรับรองทางสังคม โดยพลเมืองทุกคนควรได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม

5. การลดความเหลื่อมล้ำและการแก้ปัญหาความยากจน โดยการวางนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาระบบสวัสดิการต่างๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ การเร่งกระจายรายได้ และ 6. บทบาทของตลาดทุนและตลาดเงิน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการทรัพยากรทางการเงินในด้านต่างๆ โดยเฉพาะภาคการเงินสีเขียว (Green Finance) ที่รองรับธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน