นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้ตรวจเข้มการจำหน่ายสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสหากรรม (มอก.) ภาคบังคับ 126 บนแพลตฟอร์มระบบออนไลน์ยอดนิยมกว่า 36 แพลตฟอร์ม เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น เพื่อช่วยสอดส่องดูแลการจำหน่ายสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ตั้งแต่เจ้าของแพลตฟอร์มต้นทาง

“หาก สมอ. ตรวจจับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานแล้ว ได้ให้นโยบายเจ้าหน้าที่ ย้อนไปดูต้นทางด้วย เช่น จับผู้จำหน่าย ให้ย้อนไปดูต้นทางโรงงาน หรือจับโรงงาน ให้ย้อนไปดูผู้นำเข้า เพราะที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนเป็นจำนวนมากซื้อสินค้า ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ทำให้เสียทรัพย์ และอันตรายต่อร่างกาย”

โดยปีงบประมาณ 2565 สมอ. ตั้งเป้าหมายการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 240 เรื่องตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรมา มั่นใจว่าเครื่องมือหรือกลไกการผ่อนปรนต่างๆ จะทำให้เกิดมาตรฐานที่มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ โดยยืนยันว่าจะเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาล และประชาชนได้รับผลประโยชน์ ทั้งด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ หรือสถานการณ์โควิด-19

นายวันชัย กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2564 สมอ. ลงพื้นที่ตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างเข้ม ทำให้ผลการดำเนินงานทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกด้าน สามารถตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มูลค่ากว่า 2,040 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 1,834 ล้านบาท โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน

รองลงมาคือ กลุ่มสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 106 ล้านบาท กลุ่มสินค้าเหล็ก มูลค่ากว่า 90 ล้านบาท กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท และเป็นสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จําหน่ายผ่านระบบออนไลน์ มูลค่ากว่า 128 ล้านบาท เป็นที่น่าสังเกตว่า การตรวจจับสินค้าผ่านออนไลน์ เพิ่มขึ้นถึง 152% จากปี 2562 จับกุมสินค้าออนไลน์ประมาณ 50.68 ล้านบาท และสามารถปรับผู้กระทำความผิดทุกราย รวมมูลค่ากว่า 55 ล้านบาท

การออกใบอนุญาต มอก. ให้ผู้ประกอบการแล้ว 18,526 ฉบับ ซึ่งเป็นการออกใบอนุญาตที่มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ โดยใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการออกใบอนุญาตเพียงแค่ 6 วันทำการเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตจะต้องแสดง QR Code คู่กับเครื่องหมายมาตรฐาน เพื่อแสดงรายละเอียดข้อมูลในใบอนุญาต และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานที่แสดงบนตัวสินค้า ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายละเอียดของสินค้าได้โดยสแกน QR Code รวมทั้งเป็นข้อมูลในการร้องเรียนกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ระบุไว้ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบฯ แห่งแรกในอาเซียน ขณะนี้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 60% และเปิดให้บริการทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 (มอก.2721) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ หากได้รับการจัดสรรงบประมาณในส่วนที่เหลืออีกราว 1,600 ล้านบาท ในปี 2566 คาดว่าสนามจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบปลายปี 2568

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน