นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่เอาท์เล็ตแห่งแรกของไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจศูนย์การค้าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย มีความท้าทายสูง ทำให้เซ็นทรัลฯ มีการปรับตัวโดยนำ Data-Driven Marketing หรือ การตลาดที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล ไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะฐานลูกค้าสมาชิกของเดอะวัน (The 1) ซึ่งเป็นลอยัลตี้แพลตฟอร์ม ของเซ็นทรัล ที่ปัจจุบันจำนวนสมาชิกมากกว่า 18 ล้านราย ครอบคลุม 25% ของประชากรไทย และเชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้จำนวนสมาชิกจะเพิ่มขึ้นใกล้ 30% ของประชากรในประเทศ

ข้อมูลล่าสุดยังพบด้วยว่าประมาณ 8.4 ล้านราย ที่เป็นสมาชิกเดอะวัน ยังมีการใช้จ่ายเป็นประจำ รวมถึงมีการสะสมคะแนนเดอะวันราวปีละ 1.4 หมื่นล้านคะแนน หรือคิดเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านบาท โดยปัจจุบันมีร้านค้าที่ร่วมเป็นพันธมิตรเดอะวันอยู่ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ ธนาคาร ผู้ให้บริการน้ำมัน และร้านค้าต่างๆ รวมแล้วกว่า 2,000 ราย กระจายในกว่า 30,000 ร้านค้าทั่ประเทศ

ขณะที่แอพพลิเคชั่นเดอะวันในปัจจุบันมียอดการดาวน์โหลดแล้วกว่า 4 ล้านดาวน์โหลด โดยกว่า 9 แสนรายมีการใช้แอพฯเป็นประจำ และในแต่ละวันมียอดผู้ใช้ประมาณ 90,0000 คน ซึ่งแอพพลิเคชั่นเดอะสัน จะรวบรวมข้อมูลทั้งส่วนลด รีวอร์ด และคอนเทนต์สำหรับทุกไลฟ์สไตล์ พร้อมทั้งฟีเจอร์ที่ช่วยในการช้อปปิ้งทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้สะดวกไร้รอยต่อ อาทิ การโอน-แลก-เช็กคะแนน, สแกนจ่าย, เช็กยอดใช้จ่าย ซึ่ง The 1 ได้มีการอัพเดตฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ ตอบโจทย์ความต้องการและ เทรนด์การใช้งานของผู้บริโภคอยู่เสมอ

จากฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ดังกล่าว ทำให้บริษัทได้พัฒนาบิสิเนสโมเดลใหม่สำหรับพันธมิตรธุรกิจและร้านค้าต่างเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน พร้อมวางงบการตลาด 1,000 ล้านบาท สำหรับใช้ภายใน 3 ปี เพื่อสนับสนุนธุรกิจของพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เน้นการสร้างจุดต่างและจุดแข็งของการเป็นศูนย์การค้าภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ ผลักดันการขยายธุรกิจไปกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลซึ่งภายในสิ้นปีนี้จะมี 36 สาขา จาก 34 สาขาทั้งในและต่างประเทศในปัจจุบัน การทำการตลาดร่วมกับร้านค้าผู้เช่าในศูนย์การค้ารวมถึงพันธมิตรต่างๆ และการใช้ฐานข้อมูลสมาชิกเดอะวันเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างยอดขายให้ผู้เช่าศูนย์ฯ และพันธมิตรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสื่อสารการตลาดไปยังลูกค้าได้อย่างตรงจุด

“วิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ของคนไทย อย่างไรแล้วเชื่อว่าขาดศูนย์การค้าไม่ได้ ดูได้จากหลังคลายล็อกดาวน์ภายในสัปดาห์แรกของเดือนก.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ มีลูกค้ากลับมาจับจ่ายในศูนย์การค้าแล้วถึง 50-70% และโดยเฉพาะศูนย์การค้าในต่างจังหวัดมียอดลูกค้ากลับมาสูงถึง 70% สะท้อนให้เห็นว่าลูกค้ายังต้องการมีประสบการณ์จริงในการจับจ่าย ทานอาหาร ในศูนย์การค้า หรือเรียกว่ามาบำบัดความรู้สึกหลังเกิดโควิด หรือเรียกกันว่า Covid FOMO (Fear of missing out) การกลัวพลาดสิ่งสำคัญ ดังนั้นบริษัทเชื่อมั่นว่าภายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จะมียอดลูกค้ากลับมาเดินจับจ่ายในศูนย์ฯ ได้ประมาณ 70-80%”นายณัฐกิตติ์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน