นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ รายงานเบื้องต้นแพ็คเกจแก้ไขราคายางตกต่ำ และลดปริมาณยางจากระบบ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก่อนที่จะนำรายละเอียดแพ็กเกจแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ เสนอที่ประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ดการยาง) และเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และกลับมาเสนอให้ ครม. พิจารณาในวันที่ 19 ธ.ค. 2560 ต่อไป เบื้องต้นคาดใช้เงินประมาณ 12,680 ล้านบาท

สำหรับรายละเอียดแพ็กเกจแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ที่จะเข้าครม. สัปดาห์หน้ามีรายละเอียดดังนี้คือ 1. สนับสนุนให้ภาครัฐใช้ยางในประเทศเพิ่มเป็น 2 แสนตัน ในปี 2561 จากเดิมมีความต้องการใช้ประมาณ 7-8 หมื่นตัน โดยได้หารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอรู้ปริมาณความต้องการใช้ยาง คาดว่าจะใช้งบประมาณในการซื้อยางประมาณ 12,000 ล้านบาท

2. มาตรการประกาศหยุดกรีดยางทั่วประเทศ จนกว่าราคายางพาราจะดีขึ้นจนน่าพอใจ ทั้งในส่วนของพื้นที่สวนของภาครัฐ และสวนยางเกษตรกร โดยให้เงินจูงใจสำหรับชาวสวนที่เข้าร่วมโครงการ และลดพื้นที่ปลูกยาง โดยเริ่มจากสวนยางของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่มีพื้นที่ประมาณ 41,000 ไร่ สวนของนายทุนประมาณ 1.32 ล้านไร่ และพื้นที่สวนขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 8.6 พันไร่ ในมาตรการนี้มีเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 2 หมื่นราย ซึ่งการผลักดันมาตรการลดพื้นที่ปลูก หากชาวสวนสนใจและเข้าร่วมโครงกรภายใน ม.ค.-มี.ค. 2561 รัฐบาลจะให้เงินจูงใจรายละ 4,000 บาท/ราย รายละไม่เกิน 10 ไร่ รวมงบประมาณ 80 ล้านบาท

และ 3. มตราการสนับสนุนดอกเบี้ยเพื่อชะลอการส่งออกวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อดูดซับปริมาณยางของไทยไม่ให้ไปสู่ตลาดโลก ซึ่งมาตรการนี้รัฐบาลจะอุดหนุนดอกเบี้ยไม่เกิน 3% หรือใช้เงินประมาณ 600 ล้านบาท ส่วนชาวสวนยางที่ต้องการลดพื้นที่ปลูกและต้องการเลิกอาชีพ ตามระเบียบของ กยท. จะเงินสงเคราะห์ในอัตรา 16,000 บาท/ไร่

“การใช้มาตรการหยุดกรีด ชะลอการขายครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้ราคายางพาราเพิ่มขึ้น และหากชาวสวนที่เข้าร่วมโครงการ จะมีเงินจูงใจให้ แต่หากมีการสวมสิทธิหรือนำยางในที่ผิดกฏหมายออกมาขาย ให้ชี้เบาะแส โดยยืนยันเอาผิดเต็มที่”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน