น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 2564) มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23% คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% สูงกว่าปี 2563 ทั้งปีที่มีมูลค่า 432,000 ล้านบาท และสูงกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ช่วงปี 2558-2562 มูลค่าเฉลี่ย 483,664 ล้านบาท

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 269,730 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 52% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 77,210 ล้านบาท เป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เปลี่ยนกิจกรรมของคนทำงานในรูปแบบการทำงานอยู่ที่บ้าน ทำให้มีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น

อันดับ 2 อุตสาหกรรมการแพทย์ 59,210 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นการลงทุนต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ความต้องการสินค้าที่ใช้ในการป้องกันเชื้อโควิด เช่น ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นอย่างมาก
อันดับ 3 ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 36,760 ล้านบาท อันดับ 4 การเกษตรและแปรรูปอาหาร 31,660 ล้านบาท และอันดับ 5 เทคโนโลยีชีวภาพ 20,950 ล้านบาท

สำหรับมูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ช่วง 9 เดือนของปี 2564 มี 587 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 372,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 220% ประเทศที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 67,816 ล้านบาท สหรัฐ 26,936 ล้านบาท และสิงคโปร์ 26,882 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากแยกเฉพาะพื้นที่เป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีคำขอรับส่งเสริม 348 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 173,780 ล้านบาท โดย จ.ระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 91,670 ล้านบาท รองลงมาเป็น จ.ชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 54,310 ล้านบาท และ จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุน 27,800 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีคำขอรับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ในช่วง 9 เดือน 134 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 14,806 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สะท้อนว่านักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติยังคงให้ความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

น.ส.ดวงใจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับไปสู่ Industry 4.0 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี สัดส่วน 100% ของเงินลงทุนในการปรับปรุง แต่ต้องเสนอแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2565 และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม

“จากการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภาคอุตสาหกรรมไทยกว่า 70% ยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 2.0 หรือต่ำกว่า ระดับอุตสาหกรรม 3.0 มีเพียง 28% บีโอไอจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการสนับสนุนการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งต้องมีการปรับปรุงในหลายมิติไปพร้อมๆ กัน ทั้งระบบอัตโนมัติ ระบบอัจฉริยะ และเทคโนโลยีดิจิตอล และใช้เงินลงทุนสูง มาตรการใหม่นี้จะช่วยเสริมมาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่ระบบอัตโนมัติและมาตรการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ที่มีอยู่เดิม” เลขาธิการบีโอไอ กล่าว

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังอนุมัติขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นสิ้นสุดวันทำการสุดท้ายของปี 2565 จากเดิมมาตรการจะสิ้นสุดในวันทำการสุดท้ายของปี 2564 โดยการกำหนดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าจากเกณฑ์ปกติ และผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ คาดว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน