นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ ส.อ.ท.โพล ครั้งที่ 11 ในเดือนต.ค. 2564 ในหัวข้อ “ราคาพลังงานพุ่งแรง กระทบภาคอุตสาหกรรมแค่ไหน?” จากจำนวน 150 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหาร 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด

พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่าสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมในระดับปานกลาง 49.3% กระทบมาก 38% โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น มีเพียง 12.7% ได้รับผลกระทบน้อย

โดยแนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจด้านต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น 88% กระทบค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ปรับตัวสูงขึ้น 84% กระทบภาวะเงินเฟ้อและกำลังซื้อ/การบริโภคของภาคเอกชน 34% และขาดแคลนวัตถุดิบจากจีน จากภาวะขาดแคลนพลังงาน 25.3% ซึ่งมีผู้ประกอบการ 10% มีต้นทุนพลังงานมากกว่า 50% ของต้นทุนธุรกิจ ขณะที่ส่วนใหญ่ 46% มีต้นทุนพลังงาน 10-20% อีก 24% มีต้นทุนพลังงานน้อยกว่า 10% และผู้ประกอบการ 20% มีต้นทุนพลังงาน 30-50%

ดังนั้น ส.อ.ท. จึงเสนอขอให้ภาครัฐช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว โดยผู้ประกอบการ 66% เสนอให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) จนถึงสิ้นปี 2564 ส่วน 56.7% เสนอให้ปรับสูตรและโครงสร้างราคาพลังงานชั่วคราว 3-6 เดือน เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งดำเนินนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในระยะยาว

อีก 54% เสนอจัดสรรงบประมาณหรือใช้เงินกองทุน เพื่อชดเชยและตรึงราคาพลังงานทุกประเภท และ 53.3% เสนอให้ลดอัตราภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมันก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) 53.3%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน