แขวงทางหลวงนครสวรรค์ ปัดแจ้งความ คนเปิดทางจนรถตกเจ้าพระยา ชี้หากขับตามแนวเส้นจราจรไม่น่าไม่มีปัญหา เปิดมา 4-5 ปี ไม่เคยมีรถตกลงไป

จากกรณี นายธีรภัทร์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี ลูกชายเจ้าของร้านจำหน่ายอุปกรการเกษตรรายใหญ่ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ที่ประสบอุบัติเหตุขับรถยนต์ตาม GPS ไปเจอกับทางริมแม่น้ำที่เปิดช่องเอาไว้คล้ายกับว่าสามารถขับตรงไปได้ ประกอบกับความมืดทำให้เกิดอุบัติเหตุพุ่งตกแม่น้ำและเสียชีวิตในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์

วันที่ 9 พ.ย.64 นายรุ่งโรจน์ สถิตย์ รักษาการ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครสวรรค์ ที่ 1 เปิดเผยว่า แขวงทางหลวงนครสวรรค์ ที่ 1 ไม่ได้จะไปแจ้งความดำเนินคดี เอาผิดบุคคลหรือหน่วยงานที่เปิดทางดังกล่าวตามที่สื่อมวลชนหลายแห่งนำเสนอ เพราะจากการตรวจสอบแบบก่อสร้างทางยูเทิร์นบริเวณใต้สะพานจุดเกิดเหตุดังกล่าวพบว่า ตามแบบก่อสร้างเดิมมีการออกแบบโดยเปิดทางความกว้างประมาณ 4 เมตร บริเวณดังกล่าวไว้ตั้งแต่การก่อสร้างเมื่อช่วง 4- 5ปีที่แล้ว

ซึ่งแขวงฯ จะต้องเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในอดีตว่าทำไมจึงมีการก่อสร้างทางยูเทิร์นแบบมีการเปิดทางไว้ แต่ปัจจุบันพบว่าหน่วยงานต่างๆ และประชาชนในท้องถิ่นได้มีการเข้ามาใช้ประโยชน์จากทางที่เปิดไว้ดังกล่าวกันมานานแล้ว

โดยปัจจุบันใช้เป็นที่สูบน้ำดับเพลิงของหน่วยงานท้องถิ่น ใช้เป็นที่สูบน้ำเพื่อการเกษตรแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้คนในท้องถิ่น ใช้เป็นจุดแข่งเรือยาวงานประเพณีของจังหวัดนครวรรค์ และใช้สำหรับซ่อมระบบไฟฟ้าเข้าเสาไฟฟ้าภูมิภาคที่อยู่บริเวณใกล้เคียง

“หากมองตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ ก็ไม่ควรมีการเปิดทางบริเวณจุดที่เป็นทางยูเทิร์น แต่เราก็ต้องไปดูว่า ทำไม จุดนี้ถึงมีการเปิดไว้ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า ชาวบ้าน หรือคนในท้องถิ่นขอให้เปิดไว้ เพื่อไว้ทำประโยชน์ในการใช้นำ เท่าที่สอบถามชาวบ้าน

ยืนยันว่า ตั้งแต่เปิดทางดังกล่าวมา 4-5 ปี ไม่เคยมีอุบัติเหตุขับรถตกน้ำ ซึ่งจากการลงพื้นที่ไปสำรวจจุดเกิดเหตุ พบว่า บริเวณดังกล่าวนั้นเป็นจุดจยูเทิร์นใต้สะพาน แบบ2 ช่องจราจร มีการติดไฟส่องสว่างไว้เรียบร้อย ทาสีตีเส้นพื้นที่ไว้ ชัดเจน หากขับตามแนวเส้นจราจรไม่น่าไม่มีปัญหาและเกิดอุบัติเหตุอะไร

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขณะนี้ แขวงได้นำแบริเออร์พลาสติกไปปิดกั้นช่องดังกล่าวเป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งติดตั้งป้ายแจ้งเตือนให้รถขับไปทางขวาแล้ว โดยหลังจากนี้จะต้องกลับไปหารือร่วมกับตัวแทนชาวบ้านในท้องถิ่นว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาจุดนี้อย่างไร

รวมถึงพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้ทางเปิดของชาวบ้านว่ามีมากน้อยแค่ไหน ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก และไม่ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนผู้ใช้ทางเปิดเดือดร้อน ซึ่งต้องหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุป ว่าจะดำเนินการปิดทางถาวร หรือ ทำระบบแบบที่มีการเปิด และปิดได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน