นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (S-Curve) ที่รัฐบาลมุ่งเน้นในการเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย. 2564) อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีมูลค่าการส่งออก 137,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.2% คิดเป็น 24,988 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่า 112,438 ล้านบาท

และปี 2564 ทั้งปีคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีมูลค่า 205,664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.6% คิดเป็น 47,011 ล้านบาท จากปีก่อนมีมูลค่า 158,653 ล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ได้เข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการที่สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ ทำให้ความต้องการสินค้าและเครื่องมือแพทย์เพิ่มสูงขึ้น โดยขณะนี้ มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ คาดว่าจะสามารถนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้

“กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพของไทยมีความโดดเด่น มีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก และยังเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชน ตอบโจทย์ดิจิตอล เฮลท์แคร์ (Digital Healthcare) ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ขณะนี้ สศอ. อยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนปฏิบัติการ ได้แก่ 1. ร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ที่เน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียน ภายในปี 2570 โดยจะพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยให้มีความสามารถในการแข่งขัน สร้างความมั่นคงภายในประเทศ ยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม คุณภาพและมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ในระดับสากล

ทั้งนี้ จากการศึกษาปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการแพร่ระบาดของโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงแนวโน้มทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น IoT, 5G, AI, Machine Learning ทำให้เกิดแนวโน้มการพัฒนาเครื่องมือแพทย์เพื่อตอบสนองตลาดและเทคโนโลยีเป้าหมาย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ในที่สุด

2. ร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 พร้อมยกระดับห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิม ไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะทั้งระบบ ผ่าน 3 มาตรการหลัก คือ มาตรการที่ 1 ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน โดยการสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มด้วยการดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมการเชื่อมโยงอุปทานอย่างครบวงจร และส่งเสริมการผลิตด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่

มาตรการที่ 2 กระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยในระยะแรกจะเน้นพัฒนาในกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ บ้านอัจฉริยะ โรงงานอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โรงพยาบาลอัจฉริยะ และเกษตรอัจฉริยะผ่านการสนับสนุนให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กระตุ้นการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

และมาตรการที่ 3 สร้างและพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้ยกระดับเป็นนักพัฒนาอัจฉริยะที่สามารถออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้งและทดลองระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในกลุ่มโรงพยาบาลอัจฉริยะด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน