‘ศักดิ์สยาม’ เปิดแผนพัฒนา 16 ปี ดันไทยเป็นฮับขนส่งทางน้ำของภูมิภาคอาเซียน ดึงนักลงทุนทั่วโลก หันมาใช้เส้นทางของไทย เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการ โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) ว่า จากผลการศึกษาเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณสินค้าเข้ามาใน Landbridge คือ ท่าเรือชุมพร และท่าเรือระนอง 20 ล้าน TEUs ซึ่งจะเทียบเท่ากับท่าเรือฮ่องกงที่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้มีการออกแบบการเชื่อมต่อการขนส่ง เพื่อลดระยะเวลาและลดต้นทุนในการขนส่งให้น้อยลงเมื่อเทียบกับท่าเรืออื่นในอาเซียน ถือเป็นความท้าทาย ที่จะดึงดูดให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกหันมาใช้เส้นทาง Landbridge ของไทยเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะไม่ใช่ผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว จะต้องพัฒนาเชิงธุรกิจต่อยอดในอนาคตด้วย รวมทั้งพัฒนาโครงการให้สามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุน โดยต้องเร่งการปรับปรุงข้อกฎหมาย และสิทธิประโยชน์อื่นๆ นอกจากนี้การพัฒนาท่าเรือจะมีการพิจารณาการนำระบบเทคโนโลยี Automated Container Terminal มาช่วยในการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่จะเกิดจากกิจกรรมภายในท่าเรือ และทำให้การขนส่งระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่งเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคอาเซียน

นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาโครงการว่า แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (2566-2567) จะเร่งปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ และการดำเนินโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี รวมทั้งการเดินหน้าโรดโชว์ เพื่อดึงดูดนักลงทุน, ระยะที่ 2 (2568-2570) สร้างพันธมิตรร่วมลงทุน กำหนดกลยุทธ์การหาแหล่งทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และพัฒนานิคมอุตสาหกรรมระยะที่ 1

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ระยะที่ 3 (2571-2575) พัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตู้คอนเทนเนอร์ พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และส่งเสริมการลงทุน Zero Cabon Mega Trend Industry และระยะที่ 4 (2575-2580) พัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ระดับโลก ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ใหม่ด้านโลจิสติกส์ (Emerging Industry global Logistic connectivity) และระยะที่ 5 (ปี 2580 เป็นต้นไป) พัฒนาไปสู่การเป็นนักลงทัน ขยายธุรกิจท่าเอไปสู่ท่าเรืออื่นๆ ในต่างประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน