รายงานพิเศษ – ศึกยืดเยื้อแผนปิด‘หัวลำโพง’ ขุมทรัพย์‘8แสนล้าน’-สะดุด

นโยบายสั่งยุติการเดินรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2564 ของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ถูกวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านอย่างหนักจากสังคม โดยเฉพาะจากประชาชนผู้ใช้บริการ

เนื่องจากหัวลำโพงเป็นศูนย์กลางการเดินทางหลักของคนไทยที่ใช้เชื่อมต่อเข้าถึงใจกลางเมืองหลวงมายาวนานถึง 105 ปี

ที่สำคัญยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าทางด้านจิตใจของคนไทย เพราะก่อสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2453 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5

เปิดใช้เป็นทางการโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2459

การจะหักดิบสั่งปิดจึงไม่ง่ายอย่างที่คิด

ย้อนดูเหตุผลของกระทรวงคมนาคมในการหยุดเดินรถสถานีหัวลำโพง เหตุผลแรกที่นายศักดิ์สยามหยิบยกขึ้นมาคือ ต้องการแก้ไขปัญหารถติดบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นใน เพราะขบวนรถไฟที่วิ่งเข้ามายังหัวลำโพงมีจุดตัดกับถนนจำนวนมาก ที่ทำให้รถยนต์ต้องจอดหยุดรอ สร้างปัญหาการจราจรติดขัดให้กับคนกรุง

รายงานพิเศษ - ศึกยืดเยื้อแผนปิด‘หัวลำโพง’ ขุมทรัพย์‘8แสนล้าน’-สะดุด

จึงมีแนวคิดที่จะยกเลิกการเดินรถไฟเข้ามายังหัวลำโพง โดยให้ย้ายไปใช้ที่สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางระบบรางแห่งใหม่แทน ซึ่งเปิดเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย.

เหตุผลที่ 2 ต้องการนำที่ดินแปลงทองราว 120 ไร่ของสถานีหัวลำโพงและบริเวณโดยรอบ ซึ่งมีมูลค่าเฉพาะที่ดินรวมกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทมาพัฒนาหารายได้เชิงพาณิชย์ ด้วยการเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าที่ระยะยาว สร้างเป็นตึกสูง โรงแรม ศูนย์การค้าและย่านช็อปปิ้งของคนเมือง

เชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ ได้มากถึง 8 แสนล้านบาทภายใน 30 ปี สามารถไขแก้ปัญหาขาดทุนขาดทุนสะสม 1.6 แสนล้านบาท และเคลียร์หนี้ที่ไม่ลงบัญชี ซึ่งมียอดขาดทุนสูงถึง 6 แสนล้านบาทได้ทั้งหมด

แผนพัฒนาพื้นที่ เบื้องต้นบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (เอสอาร์ทีเอ) บริษัทลูกที่บริหารสินทรัพย์ให้ รฟท.นำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว ภายใต้ คอนเซ็ปต์ ‘Hualampong Heritage Complex’

ผสมผสานระหว่างความเก่ากับความทันสมัย ยืนยันว่าจะยังคงอนุรักษ์อาคารสถานีหัวลำโพง สถาปัตยกรรมเก่าแก่สไตล์เรอเนสซองส์ และจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ เอาไว้ทั้งหมด

ทั้งเตรียมนำพื้นที่ส่วนอื่นๆ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ ด้วยการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี เช่าที่ดินไปพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส อาคารสำนักงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม รวมไปถึงการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมือง

แบ่งพื้นที่พัฒนาเป็น 5 โซน

โซน A พื้นที่ถนนเข้าออก และลานจอดรถ ด้านคลองผดุงกรุงเกษม 16 ไร่

โซน B อาคารสถานีหัวลำโพง 13 ไร่

โซน C โรงซ่อมรถดีเซลรางและรถโดยสาร 22 ไร่

โซน D ชานชาลาทางรถไฟ 12 ชาน และย่านสับเปลี่ยน 49 ไร่

และโซนอาคารสำนักงานการรถไฟ ตึกคลังพัสดุ 20 ไร่

สําหรับเฟสแรกตั้งเป้าเดือนต.ค. 2565 จะเปิดประมูลหาเอกชนผู้รับจ้างเพื่อเข้ามาปรับปรุงอาคารโดมสถานีหัวลำโพงให้เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟ และพื้นที่สำหรับร้านค้าแบรนด์เนมระดับหรู

พัฒนาอาคารสำนักงานดีไซน์เป็นรูปปีกนกโอบรอบตึก ตามโลโก้ของ รฟท.

พัฒนาพื้นที่ติดกับคลองผดุงกรุงเกษมเป็น Promenade ประมาณ 5 ชั้น ประกอบด้วย ร้านค้า สำนักงาน ลานกิจกรรมอาคารศูนย์ประชุม โรงแรม Service Residence และท่าเรือ เพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ คล้ายกับเวนิซ ประเทศอิตาลี

ส่วนเฟส 2 พัฒนาพื้นที่ทางรถไฟและย่านสับราง เป็นมิกซ์ยูสลักษณะ Lifestyle mixed-use รองรับธุรกิจโรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่จัดแสดง โดยยึดต้นแบบ ‘โตเกียว มิดทาวน์’ (Tokyo Midtown) ประเทศญี่ปุ่น

รายงานพิเศษ - ศึกยืดเยื้อแผนปิด‘หัวลำโพง’ ขุมทรัพย์‘8แสนล้าน’-สะดุด

สําหรับที่ดินสำนักงานของการรถไฟฯ และตึกแดง ตึกคลังพัสดุโบราณ จะอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเดิมไว้บูรณะให้เป็นร้านค้าและโรงแรมระดับ 6 ดาวเหมือนในประเทศแถบยุโรป

เน้นรูปแบบ Urban mixed-use สร้างโรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์กิจกรรม

รวมถึงพื้นที่ให้ร่มรื่นผสมผสานความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอด แนวคลองและได้ศึกษาชุมชนริมน้ำยึดต้นแบบโครงการ ‘Suzhou Creek’ เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

หันมาดูเหตุผลของฝ่ายที่คัดค้านกันบ้าง เริ่มจากประชาชนผู้ใช้บริการมองว่าการหยุดเดินรถสถานีหัวลำโพง ย้อนแย้งกับนโยบายส่งเสริมการเดินทาง ในระบบรางแทนระบบรถยนต์ของรัฐบาล

ส่งกระทบกับประชาชนผู้ใช้บริการจากทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และคนทำงานที่ต้องเดินทางเดินเข้ามาทำงานใจกลางกรุงเทพมหานครทุกวัน และยังกระทบการเดินทางไปในเส้นทางสายตะวันออกซึ่งต้องเชื่อมต่อที่สถานีหัวลำโพงอีกด้วย

ขณะที่ปัจจุบันระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังไม่สามารถเชื่อมต่อทุกพื้นที่ได้ทั้งหมด ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นการซ้ำเติมการเดินทางของคนกรุงมากกว่า

จนมีข้อเสนอให้รฟท.เร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง หรือ Missing Link ให้แล้วเสร็จก่อนจึงค่อยหยุดเดินรถสถานีหัวลำโพง

รวมทั้งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ใช้บริการโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มคนมีรายได้น้อย เพราะประชาชนจะต้องหันมาใช้บริการโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินแทนซึ่งมีราคาค่าโดยสารแพงกว่ารถไฟมาก

ร้อนถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศ ไทย (สร.รฟท.) ต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน โดย นายสราวุธ สราญวงศ์ รักษาการประธานสหภาพฯ ออกแถลงการณ์ระบุว่าการหยุดเดินรถหัวลำโพงเป็นขบวนการทำลายคุณค่าประวัติศาสตร์รถไฟไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ให้เลือนหายไปจากสังคมไทย

รายงานพิเศษ - ศึกยืดเยื้อแผนปิด‘หัวลำโพง’ ขุมทรัพย์‘8แสนล้าน’-สะดุด

ส่วนการเตรียมนำพื้นที่สถานีหัวลำโพงและบริเวณโดยรอบราว 120 ไร่ซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานไปให้เอกชนเช่าทำมาหากินนั้น อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 6

เนื่องจากตามกฎหมายระบุวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจนว่าเป็นการใช้พื้นที่เพื่อการเดินรถ เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อการพาณิชย์

สอดคล้องกับสีผังของเมืองบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นสีน้ำเงินโซนพื้นที่ราชการ ไม่สามารถนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้

ส่วนข้ออ้างว่าการเดินรถไฟเข้าหัวลำโพงทำให้รถติด สหภาพฯ ระบุว่าไม่เป็นความจริง ในทางกลับกับทำให้รถติดน้อยลง เพราะคนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัว

รวมทั้งทางรถไฟยังมีการก่อสร้างมาก่อนถนนหลายเส้นทางในกรุงเทพมหานครอีกด้วย

การต่อต้านคัดค้านการปิดหัวลำโพงที่ค่อนข้างดุเดือดของสังคม ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายหักดิบของกระทรวงคมนาคมที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น

สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนจากกรณีที่นายศักดิ์สยามยอมทบทวนนโยบาย สั่งการให้รฟท.กลับไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์และยูทูบของเพจช่อง 9 อสมท และเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่าจะได้ข้อสรุปและทางออกอย่างชัดเจนเมื่อใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน