เวิลด์แบงก์ฟันธง! เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ปีหน้า คาดโตเพิ่มเป็น 3.9% ต่อเนื่องปี’66 โต 4.3% – ชี้จีดีพีผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

เวิลด์แบงก์ฟันธงศก.ฟื้น – นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 3/2564 ที่หดตัว 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการหดตัวต่ำสุดในประวัติการณ์ และต่ำสุดเป็นอันดับ 3 รองจากเวียดนามหดตัว 6.2% มาเลเซียหดตัว 4.5% โดยปีนี้เวิลด์แบงก์ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยอยู่ที่ 1%

ทั้งนี้ เนื่องจากการส่งออก และมาตรการเยียวยาจากภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาหลังการคลายล็อกดาวน์ และการกระจายวัคซีนที่ทำได้เร็วกว่าเป้าหมายและคาดว่าจะเข้าสู่ระดับ 70% ของประชาการทั้งหมดได้ในปลายปีนี้ แต่การบริโภคภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ ภาคการท่องเที่ยวยังเปราะบางจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีไม่มากนักจนถึงสิ้นปีนี้ แม้จะมีการเปิดประเทศแล้วก็ตาม

ส่วนปี 2565 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น จึงปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปีหน้าของไทยมาอยู่ที่ 3.9% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.6% ปี 2566 คาดจีดีพีเติบโตอยู่ที่ 4.3% จากแรงขับเคลื่อนในภาคบริการ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่กลับมาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น
โดยปี 2565 คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีต่อเนื่องไปในปี 2566 ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยประมาณ 20 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 ช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด

“เวิลด์แบงก์ประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะสามารถกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิดได้ในช่วงปลายปี 2565 จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจะช่วยส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของจีดีพีปี 2565 โตได้ 2% และปี 2566 เติบโตได้ 4%”

นายเกียรติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ในกรณีเลวร้ายหากโควิดกลับมาระบาดหรือเกิดการกลายพันธุ์ใหม่ ทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอีกระลอก และจะกระทบต่อจีดีพีปี 2565 ที่คาดว่าจะหดตัว 0.3% และมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะกลับคืนสู่ระดับปกติเหมือนก่อนเกิดการโรคระบาดล่าช้าออกไปอีก 1 ปี

นอกจากนี้ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นเป็น 3.2% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2564 ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินหลายมาตรการของรัฐบาล อาจปกปิดจุดอ่อนที่แฝงอยู่ในคุณภาพสินเชื่อโดยไม่ตั้งใจ เกิดความเสี่ยงระดับหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในระดับสูงถึงเกือบ 90% ของจีดีพี และยังอาจรุนแรงขึ้นได้จากมาตรการผ่อนปรนวงเงินสินเชื่อต่อมูลค่าเพื่อการกู้ยืมชั่วคราว โดยผู้กู้สามารถกู้ได้สูงสุด 100% ของมูลค่าบ้าน จนถึงสิ้นปี 2565
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังคงมีความเสี่ยงทางด้านการเงิน จากสัดส่วนเอ็นพีแอลในกลุ่มเอสเอ็มอีไตรมาสแรกของปีนี้ที่ยังคงสูงกว่า 7% ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่อยู่ระหว่าง 4.5-5%

อย่างไรก็ตาม หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงนั้น มองว่ายังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และยังอยู่ในกรอบเพดานที่กำหนด โดยคาดการณ์หนี้สาธารณะจะแตะสู่ระดับ 62.2% จากปัจจุบันที่ 58% และก่อนหน้าสถานการณ์โควิดอยู่ที่ 40% กว่า ซึ่งในระยะต่อไปมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูของภาครัฐควรทำแบบเฉพาะเจาะจงถึงกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น รวมถึงมีแนวทางการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน