พิษโควิด! สศก.คาดปี 64 หนี้ครัวเรือนเกษตรกร พุ่ง 2.6 แสนบาท เพิ่มขึ้น 16.5% เทียบปี 2563 และเพิ่มขึ้น 18.4% จากปี 2562 พบภาคใต้กู้มากสุด

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2565 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คาดการณ์หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรปี 2564 มีประมาณ 262,317 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16.5% เทียบปี 2563 มีหนี้สิน 225,090 บาท/ครัวเรือนและเพิ่มขึ้นประมาณ 18.4% จากปี 2562 มีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 221,490 บาท/ครัวเรือน แต่หากเทียบระยะเวลา 2 ปี หลังการระบาดของโควิด-19 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้น 74% จากปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 150,636 บาท/ครัวเรือน

ทั้งนี้ หนี้สินส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้สินจากการกู้ยืมเพื่อการเกษตร ได้แก่ การซื้อปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ ปุ๋ย ยา อาหารสัตว์ และเกือบทั้งหมดเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบ และเป็นหนี้สินระยะยาว มากกว่า 5 ปีขึ้นไป ภาคใต้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินนอกการเกษตร เช่น ซื้อที่ดิน/ทรัพย์สินนอกการเกษตร ลงทุนในธุรกิจนอกการเกษตร การศึกษา และเพื่อการอุปโภคบริโภค

“โควิดส่งผลให้แรงงานคืนถิ่นจำนวนมาก ลูกหลานเกษตรกรกลับไปต่อยอดอาชีพพ่อแม่ มีการกู้เงินทั้งเพื่อซื้อที่ดิน และซื้อปัจจัยการผลิตทั้ง ซื้อพันธุ์พืช สัตว์ ซื้อปุ๋ย ซื้อยา อาหารสัตว์”

นายฉันทานนท์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลล่าสุดของหนี้สินแต่ละภาคในปี 2563 หนี้สินเกษตรกร(เก็บข้อมูลระหว่างเดือนพ.ค.2563-เม.ย.2564) เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า พบภาพรวมเกษตรกรทั่วประเทศมีหนี้สิน 225,090 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อนหน้า ที่มีหนี้สิน 221,490 บาท/ครัวเรือน แบ่งเป็น ภาคใต้มีหนี้สิน 285,357 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 87% จากปีก่อนหน้าที่มีหนี้สิน 152,828 บาท/ครัวเรือน ภาคกลางมีหนี้สิน 212,926 บาท/ครัวเรือนลดลง 9% จากปีก่อนหน้าที่มีหนี้สิน 234,735 บาท/ครัวเรือน

ภาคอีสานมีหนี้สิน 209,165 บาท/ครัวเรือนลดลง 10% จากปีก่อนหน้าที่มีหนี้สิน 231,296 บาท/ครัวเรือน และภาคเหนือมีหนี้สิน 223,432 บาท/ครัวเรือนลดลง 12% จากปีก่อนหน้าที่มีหนี้สิน 254,579 บาท/ครัวเรือน โดยหนี้สินส่วนใหญ่เกิดในภาคเกษตร 55% หนี้สินเกษตรกรเกิดนอกภาคเกษตรสัดส่วน 45% เป็นเงินกู้ในสถาบันการเงิน 97% และกู้นอกสถาบันการเงินประมาณ 3% และส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะยาว 5 ปีขึ้นไปสัดส่วน 73.22% กู้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปีสัดส่วน 20% และมากกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 5 ปีสัดส่วน 6.12%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน